​ยกระดับสุขภาพของประชาชน ความท้าทายใหม่หลังการแก้จนของจีน

​ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปีในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยจีนได้ประสบความสำเร็จในการสร้าง “สังคมมีกินมีใช้” อย่างรอบด้าน และประกาศชัยชนะเหนือความยากจนในปีก่อน แม้ต้องเจอกับวิกฤติโควิด บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงประเด็นนี้และนโยบายที่จีนกำลังดำเนินต่อไปค่ะ

การแก้ปัญหาความยากจนของจีนเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นที่ต้องการขจัดความยากจน โดยจีนเน้นแก้จนผ่านการกระจายความช่วยเหลือ ให้การดูแลที่ลดความยากจนและเพิ่มการพัฒนา ไม่ได้เน้นการแจกเงินหรือใช้เม็ดเงินลงไปตรง ๆ แต่แก้จนอย่างยั่งยืนด้วยการแก้ไขและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของประชาชน นับตั้งแต่ปี 2556 หรือกว่า 8 ปีที่จีนใช้นโยบายนี้เพื่อนำพาคนจีนในพื้นที่ชนบทและยากจนพ้นจากความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จภายในปี 2563 จีนก็บรรลุเป้าหมาย และช่วยให้ประชากรที่ยากไร้ในเขตชนบท (ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,300 หยวน หรือประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี) กว่า 100 ล้านคนพ้นจากความยากจนผ่าน “ความหมดห่วงสองประการ และสามหลักประกัน” โดย 1) ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารการกินและ 2) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงมีหลักประกัน 1) ด้านการศึกษาภาคบังคับ 2) การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และ 3) ความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัย

นักวิชาการจากต่างประเทศสรุปว่า หลักความสำเร็จในการบรรเทาความยากจนในจีน ประกอบด้วย "5Ds" คือ D1:ผู้นำที่มุ่งมั่น (Determined Leadership) โดยผู้นำแต่ละรุ่นของจีนมีแนวคิดร่วมกันในการขจัดความยากจน D2:มีแผนการที่ชัดเจนและแจกแจงรายละเอียด (Detailed Blueprint) โดยจีนมีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่ระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจน วิเคราะห์สาเหตุและที่มาของปัญหา รวมถึงมีมาตรการและขั้นตอนการดำเนินการที่เจาะจงเพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ D3:มุ่งเน้นการพัฒนา (Development Oriented) ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ความยากจน และให้ความสำคัญกับการศึกษาที่จะเป็นกุญแจแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน D4:การกำกับดูแลที่อิงข้อมูล (Data-based Governance) ผ่านการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และ D5:การกระจายอำนาจ (Decentralized Delivery) ผ่านเลขาธิการ 5 ระดับ ประกอบด้วย มณฑล จังหวัด อำเภอ ชนบท และหมู่บ้าน ที่ร่วมกันทำงานและช่วยแก้ไขปัญหาจนถึงระยะสุดท้าย ด้วยหลักการแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้จีนบรรลุเป้าหมายการลดความยากจนภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 (ค.ศ. 2030) ของสหประชาชาติก่อนกำหนดถึง 10 ปี

Telemedicine concept - asian senior man patient lying on bed has video call with doctor team by big screen TV in a hospital ward or at home

แม้จีนจะประกาศความสำเร็จกับการแก้ไขความยากจน แต่ปัญหาที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่พัฒนาคือสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่กลายมาเป็นความท้าทายของจีน โดยรายงานของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน พบว่า ในปี 2563 คนจีนอายุ 18 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่ง มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จากตัวเลข 29% ในปี 2545 และ 42% ในปี 2555 ขณะที่เด็กจีนก็มีปัญหานี้เช่นกัน กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 6-17 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนรวมกันถึงเกือบ 20% ส่วนกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อยู่ที่ 10% หากนับจำนวนทุกกลุ่มอายุรวมกัน จีนจะมีจำนวนประชากรที่กำลังเผชิญภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนถึงกว่า 600 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรสหรัฐฯ ทั้งประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามดำเนินนโยบายแก้ปัญหาสุขภาพข้างต้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นผ่านสถานศึกษา เช่น การปรุงอาหารให้ถูกหลักตามโภชนาการ หรือเพิ่มการออกกำลังกายให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจบการศึกษา แต่อาจยังไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่รัฐบาลจีนหวังไว้

นอกจากนี้ จีนให้ความสำคัญมากขึ้นกับสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุเช่นกัน เนื่องจากประชากรของจีนที่มีมากถึง 1,400 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก กำลังก้าวเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 สัดส่วนของผู้สูงอายุจีนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีถึง 12% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16.9% ภายในปี 2573 และแน่นอนเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพย่อมเพิ่มขึ้นตามตัว เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเป็นการสร้างชาติจีนอย่างยั่งยืนเมื่อปี 2559 จีนได้กำหนดนโยบาย “Healthy China 2030” เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาสุขภาพของประชากรจีนให้มีสุขภาพที่ดีและพัฒนาระบบสาธารณสุขและสถานพยาบาลให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาตัวยาที่มีคุณภาพร่วมกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในระบบการแพทย์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบ Big Data และ การใช้ระบบ Telemedicine เพื่อช่วยให้การแพทย์ของจีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นโยบายของจีนที่เน้นเรื่องสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่ม Healthcare อย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตยา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ โรงพยาบาล ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และ Telemedicine เป็นกิจการที่ได้รับประโยชน์และเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในกลุ่มเหล่านี้ที่จะขยายธุรกิจหรือรุกตลาดจีนค่ะ


ผู้เขียน:
ธนันธร มหาพรประจักษ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 17 กรกฎาคม 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>