ในสถานการณ์ปัจจุบันคงเลี่ยงไม่ได้ที่เราทุกคนจะเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน และมีทีท่าจะรุนแรงและยืดเยื้อไปอีกช่วงระยะหนึ่ง ท่ามกลางความกังวลเรื่องระบบสาธารณสุข และวัคซีนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นกันมากในช่วงนี้ ความกังวลเรื่องปากท้อง รายได้ไม่พอจ่าย และการหางานทำที่ลำบากขึ้น ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในห้วงความคิดตั้งแต่การระบาดระลอกแรกมาจนถึงตอนนี้ วันนี้จึงขอฉายภาพตลาดแรงงานหลังการระบาดระลอกแรก พร้อมชี้ให้เห็นถึงจุดเปราะบางสำคัญของตลาดแรงงานเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนให้พร้อมรับกับความไม่แน่นอนที่ดูจะรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสาม ปี 2563 ที่เริ่มทยอยเปิดเมืองหลังการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ระลอกแรก เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาพรวมของตลาดแรงงานที่ค่อย ๆ ปรับดีขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย แม้รายได้อาจจะยังไม่กลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ก็ทำให้ประชาชนเริ่มมีกำลังใจกับสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ไม่นานนักก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 (การระบาดระลอกสอง) ซึ่งต่อมาเริ่มแพร่กระจายหลายคลัสเตอร์และเป็นวงกว้างในเดือน ม.ค. 64 การระบาดระลอกสองนี้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ตลาดแรงงานไตรมาสแรกของปี 64 โดยรวมปรับแย่ลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานไม่รุนแรงเท่าช่วงการระบาดระลอกแรก เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดน้อยกว่าระลอกแรก และส่วนหนึ่งมาจากภาคการผลิตที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ทั้งจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ
ในไตรมาสแรกของปี 64 เมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ตลาดแรงงานภาคการผลิตจะยังคงไปต่อได้ แต่ตลาดแรงงานโดยรวมนั้นยังวางใจไม่ได้ เพราะหากตัดภาคการผลิตออก การระบาดระลอกสองส่งผลให้จำนวนผู้มีงานทำโดยรวมปรับลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยการจ้างงานลูกจ้างรายวันปรับลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่สามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพื่อประคับประคองสถานการณ์ รวมไปถึงชั่วโมงทำงานเฉลี่ยก็ปรับลดลงเช่นกัน ส่งผลต่อไปยังรายได้ให้ปรับแย่ลง อย่างไรก็ดี เมื่อลองพิจารณาถึงสถานะของผู้มีงานทำกลับพบว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานนอกภาคเกษตรนั้นปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยกลับปรับลดลง สะท้อนถึงรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวันในกลุ่มอาชีพอิสระก็ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาชีพขายอาหาร และขายสินค้าอื่น ๆ บนแผงลอยและตลาด แม้จำนวนผู้เสมือนว่างงานโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่องก็ตาม ในช่วงการระบาดระลอกสอง การที่กลุ่มแรงงานอิสระนอกภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับมีชั่วโมงทำงานที่ลดลง สะท้อนถึงความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นของแรงงานกลุ่มนี้ และยังคงน่าเป็นห่วงในด้านรายได้ที่อาจลดลงมาก ซึ่งซ้ำเติมความเปราะบางเดิมจากทั้งรายได้ที่ต่ำและไม่แน่นอนที่มีอยู่ก่อนหน้า
หลังจากการระบาดระลอกสอง ต่อมายังการระบาดระลอกสาม สถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามคืนในเดือน เม.ย. 64 เมื่อพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดแรงงานต้องปรับตัวอีกครั้ง การติดตามจุดเปราะบางของตลาดแรงงานอย่างกลุ่มแรงงานอาชีพอิสระนอกภาคเกษตรที่มีจำนวนกว่า 8 ล้านคน (หนึ่งในห้าของกำลังแรงงานทั้งหมด) จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางรับมือหรือเสนอแนะมาตรการช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่จากข้อจำกัดด้านข้อมูลของแรงงานอิสระที่ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลรายได้โดยตรง อีกทั้งข้อมูลที่มีเช่น จำนวนผู้มีงานทำ ชั่วโมงการทำงาน มักไม่ทันการณ์ (ล่าช้า 1 เดือน) ทำให้เกิดความท้าทายในการติดตามรายได้หรือความเป็นอยู่ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เร็ว social listening ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ [1] ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้เร็วที่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบเชิงบวก/ลบที่มีต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เป็นอย่างดีในช่วงโควิด-19 เครื่องชี้ดังกล่าวประมวลมุมมองเชิงบวกหรือลบที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยรวบรวมจากโพสต์และความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับอาชีพอิสระ เช่น หาเช้ากินค่ำ ขับ grab ขายของออนไลน์
[1] ข้อควรระวัง (1) ดัชนีสะท้อนเพียงการพูดถึง/ความสนใจ ไม่ได้ชี้วัดภาวะแรงงานอาชีพอิสระอย่างเป็นรูปธรรม และจับประเด็นเฉพาะกลุ่มคำที่สนใจ ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมแรงงานอาชีพอิสระทั้งหมดในทุกมิติ และแรงงานอาชีพอิสระบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ (2) การจัดกลุ่ม sentiment ใช้ทั้ง algorithm (ความถูกต้อง 70%) และคนเพื่อเพิ่มความถูกต้อง แต่อาจก่อให้เกิด judgment bias (3) กลุ่มคำดังกล่าวค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นอื่น ๆ ด้วย อาทิ การเมือง มาตรการภาครัฐ ทำให้ข้อมูลค่อนข้างผันผวนในบางช่วงเวลา |
---|
กิจกรรมของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานนอกภาคเกษตรปรับแย่ลงจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกสาม สะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว social listening ของผู้ประกอบอาชีพอิสระในเดือน เม.ย. 64 โดยพบว่า สัญญาณมุมมองเชิงลบที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบอาชีพอิสระกลับมาอีกครั้งตามความกังวลโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. 64 และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดในช่วง 26 เม.ย. – 2 พ.ค. 64 แม้ระดับความกังวลยังไม่มากเท่ากับการระบาดระลอกแรก แต่ก็สูงกว่าช่วงการระบาดระลอกสอง และมีแนวโน้มที่จะเกิดมุมมองเชิงลบที่รุนแรงขึ้น นอกจากเครื่องชี้เร็วดังกล่าว การได้รับฟังเสียงความคิดเห็นจากผู้ประกอบอาชีพอิสระโดยตรง รวมถึงการรวบรวมข่าวสารต่าง ๆ ก็ขาดไม่ได้ที่จะทำให้การประเมินผลกระทบเป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้น พบว่าในช่วง มี.ค. – เม.ย. 64 ผลกระทบโดยรวมต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกิดจากการระบาดระลอกสามรุนแรงกว่าระลอกสอง ธุรกิจนวดและสปา ปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 80 เป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่การระบาดระลอกก่อน ๆ แม้จะไม่ได้ถูกสั่งปิดในการระบาดระลอกสาม พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย มียอดขายลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาปกติ แม้ว่าช่วงก่อนหน้ารายได้จะทยอยกลับมาบ้าง ขณะที่ ผู้ขับแท็กซี่ มองว่าผลกระทบจากการระบาดระลอกสามนั้นรุนแรงกว่าระลอกแรก เนื่องจากความกลัวต่อการเสี่ยงติดเชื้อมีเพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้คนไม่เดินทาง หรือหากเดินทางก็จะใช้รถยนต์ส่วนตัวแทน
เนื่องจากพัฒนาการของการแพร่ระบาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง รวมไปถึงการยกระดับมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นที่เริ่มบังคับใช้ไปเมื่อ 1 พ.ค. 64 โดยเฉพาะ 6 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านเด็ดขาด ส่งผลโดยตรงต่อการทำมาหากินของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำอาชีพค้าปลีกและบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีจำนวนมากถึงเกือบร้อยละ 60 ของผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหมด อาทิ พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก ความเป็นอยู่และรายได้ของกลุ่มอาชีพอิสระจึงมีความน่ากังวลไม่น้อยในระยะต่อไป
เมื่อมองถึงมาตรการรัฐที่ผ่านมา อย่างโครงการ คนละครึ่ง หรือ เราชนะ นั้นถือว่ามีส่วนช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพอิสระที่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก หาบเร่แผงลอย ได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤตโควิด หากแต่มาตรการเหล่านี้ ใช้เพียงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดซี่งทำได้เพียงช่วงระยะเวลาหนี่งเท่านั้น ทางออกหลักที่จะพาเราทุกคนรอดได้คือ การฉีดวัคซีน ดังสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2564 ที่ว่า “โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์” และ “การฉีดวัคซีนถือเป็นพระเอกของนโยบายเศรษฐกิจ” โดยจะลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ และลดภาระทางการคลังในการเยียวยา รวมไปถึงลดผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจและตลาดแรงงานได้ในระยะยาว
ที่มา: 1. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ (Business Liaison Program: BLP) และข่าว ในเดือน มี.ค. – เม.ย. 64 และรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2. ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดย ธปท.
ผู้เขียน :
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย