​วิกฤตสะเทือนเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ท่ามกลางความเศร้าโศกและใจหายของประชาชนในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพฯ รวมถึงหลายคนทั่วโลกต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (8 ก.ย.) ผู้เขียนขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระลึกถึงและไว้อาลัยต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของพระองค์ด้วยการตกผลึกเหตุการณ์สำคัญทั้งภูมิรัฐศาสตร์และวิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยสังเขป ตั้งแต่พระองค์ทรงครองราชย์ (ปี 1952) จนเสด็จสู่สวรรคาลัย (ปี 2022) ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง “เสถียรภาพ” ท่ามกลางมรสุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

London, United Kingdom - September 9, 2022: The enormous photo of HRM Queen Elizabeth II at Piccadilly Circus in London


วิกฤตคลองสุเอซ

ช่วงปี 1956 รัฐบาลอิสราเอลร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกเข้าควบคุมคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของการเดินเรือและขนส่งสินค้าจากทวีปยุโรปไปเอเชีย หลังจากที่รัฐบาลอียิปต์ถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่ดูแลคลองสุเอซซึ่งเป็นของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสให้มาเป็นของรัฐบาลอียิปต์ อย่างไรก็ตาม หลังการสู้รบเริ่มต้นขึ้น พันธมิตรทั้งสามได้รับแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนักจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต จนในที่สุดต้องถอนกำลังจากอียิปต์ ทำให้ในขณะนั้น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินอย่างหนัก จนต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจหลายประเทศแม้เป็นเวลาไม่กี่เดือน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสถานะความเป็นมหาอำนาจและความเป็นศูนย์กลางการเงินโลกของสหราชอาณาจักรอีกด้วย


วิกฤตการขาดแคลนน้ำมันโลก

ช่วงปี 1973 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก ซึ่งมีอิทธิพลสูงมาก เนื่องจากน้ำมันเป็นทรัพยากรยอดนิยมและมีราคาสูง ตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ส่งออกน้ำมันดิบไปยังหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เนเธอแลนด์ โปรตุเกส เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างอิสราเอล (ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มประเทศเหล่านี้) กับอีกฝ่ายคืออียิปต์และซีเรีย (ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยโอเปก) ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 4 เท่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ตกอยู่ในภาวะ stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานสูง พร้อมกับระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปพุ่งสูงขึ้นด้วยหรือก็คือเงินเฟ้อสูงนั่นเอง


วิกฤตหนี้สาธารณะลาตินอเมริกา ปี 1982

สาเหตุเกิดจากธนาคารเอกชนหลายแห่งได้ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เช่น บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้วยความคาดหวังว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเติบโตสูง ขณะที่ธนาคารเอกชนเหล่านี้มีแหล่งเงินฝากสำคัญจากกลุ่มประเทศโอเปก แต่ปรากฏว่าในช่วงปี 1982 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาย่ำแย่ลง ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้ต่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จึงเกิดเป็นวิกฤตการเงินลุกลามไปในเศรษฐกิจหลายประเทศ


วิกฤตการเงิน ปี 1997 และ 1998

หลายประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งรัสเซียประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากภาวะฟองสบู่แตกในราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ธุรกิจและสถาบันการเงินจำนวนมากขาดสภาพคล่องและเลิกกิจการ เงินทุนไหลออกรุนแรงและทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ทำให้หลายประเทศต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และ World Bank ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ได้สร้างบทเรียนสำคัญสำหรับการระแวดระวังป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการเข้าแก้ไขเมื่อเกิดวิกฤตเป็นอย่างมาก


วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008

เป็นวิกฤตการเงินที่มีจุดกำเนิดในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจากการปล่อยกู้ให้ผู้กู้ที่อยู่ในข่ายมีโอกาสไม่ชำระคืนสูง (subprime) โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้คนมีความหวังว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผนวกกับการใช้นวัตกรรมทางการเงินอย่างไม่ตระหนักและคำนึงถึงความเสี่ยงเท่าที่ควร เมื่อภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาดิ่งลง ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมาและลุกลามเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เองได้ทรงเคยสอบถามกับคณาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย LSE หรือ The London School of Economics and Political Science ไว้ว่า “เหตุใดจึงไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตนี้ขึ้น?” ซึ่งต่อมา คณาจารย์ได้กราบทูลผ่านจดหมายเพื่อสรุปเหตุของวิกฤตครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เหตุของวิกฤตนี้มีหลายปัจจัย ขณะที่ปัจจัยสำคัญคือความล้มเหลวในการจินตนาการถึงความเสี่ยงเชิงระบบของบุคคลผู้ชาญฉลาดทั้งในประเทศนี้และในระดับสากล”


วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ปี 2009

เกิดจากหลายประเทศขนาดเล็กในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งไม่สามารถชำระคืนหนี้สาธารณะที่ก่อไว้ได้ จากการก่อหนี้เกินตัวในช่วงที่ผ่านมาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปด้วยสถานะความเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งการก่อหนี้ดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจากการดำเนินนโยบายประชานิยมในแต่ละประเทศ จนลุกลามส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งยุโรปและประเทศอื่น ๆ


วิกฤตโควิด-19

เป็นวิกฤตที่ส่งผลต่อการชะงักงันในเศรษฐกิจโลกอย่างแสนสาหัส จากผลพวงของมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาด สร้างปรากฎการณ์ทุบสถิติทั้งการหดตัวของ GDP และการพุ่งสูงของอัตราการว่างงานแทบทุกประเทศในโลก ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงมีพระราชดำรัสสำคัญพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงเวลายากลำบาก มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “คนรุ่นหลังเราจะพูดได้ว่า คนอังกฤษรุ่นนี้แข็งแกร่งไม่แพ้รุ่นไหน…วันที่ดีย่อมจะหวนกลับคืนมา และเราจะพบกันใหม่”


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย