นางสาวศิธิษณา สู่แสวงสุข
นางสาวศิราภรณ์ จันทอง
“บริการเงินด่วน ไม่ใช้หลักทรัพย์ ไม่ต้องการคนค้ำ อนุมัติง่าย ได้เงินเร็ว” นี่เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อที่เหล่านายทุนนอกระบบทั้งหลายใช้เพื่อกระตุ้นความต้องการเงินของประชาชนรายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินเร่งด่วน นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและความต้องการด้านอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามกระแสสังคมยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการเงินกู้จากแหล่งทุนนอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมด้านการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและการติดตามทวงถามหนี้ที่รุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยจะเห็นได้จากรายงานข่าวของสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวนาที่เพิ่งได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวถูกทวงหนี้จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในลักษณะข่มขู่คุกคาม จนหน่วยงานรัฐ (คสช.) ได้ออกประกาศเรื่องความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้ พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการถูกข่มขู่หรือใช้กำลังประทุษร้ายของกลุ่มเจ้าหนี้และนายทุนนอกระบบ ล่าสุดยังเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ให้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วและมีความเหมาะสมอันจะส่งผลดีทำให้ลูกหนี้ในระบบเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับการปฏิบัติทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
ถึงแม้ว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดย ธปท. ได้สำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน ในปี 2556 พบว่ายังมีครัวเรือนที่พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากผู้ให้บริการนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนหรือบุคคลอื่นนอกครัวเรือน และเข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อจากผู้ให้บริการในระบบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการทางการเงิน1 ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นรูปธรรมจึงจำเป็นต้องพิจารณาแก้ไขแบบบูรณาการจากหลายส่วนงาน ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเพื่อผ่อนคลายปัญหาหนี้นอกระบบที่อาจดำเนินการได้ในเบื้องต้น ได้แก่
(1) บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจากแหล่งเงินนอกระบบ โดยเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายเอาผิดเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือทำร้ายร่างกายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันพร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามผู้ให้บริการนอกระบบที่ผิดกฎหมายมากขึ้น
(2) ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการในระบบขยายบริการไปสู่ผู้ใช้บริการได้กว้างขวางขึ้นเพื่อลดความจำเป็นในการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ โดย ธปท. ได้ดำเนินการปรับเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้เอื้อต่อการให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนในระดับฐานราก อาทิ การออกแนวนโยบายสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารพาณิชย์ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารกรุงไทยที่ให้บริการนี้อยู่ และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดสาขาให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสาขาแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมเหมือนกันขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของแต่ละธนาคาร เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เลือกให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ประชาชนในแต่ละชุมชนได้ อย่างไรก็ดี การจะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ขยายบริการสู่ประชาชนรายย่อยได้กว้างขวางกว่าเดิมในระยะต่อไป ควรคำนึงถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการ เช่นการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต หรือการให้บริการผ่านตัวแทน (Banking Agent) ที่อยู่ในชุมชนเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการ
(3) สนับสนุนการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในการให้บริการแก่ประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะได้ผลลัพธ์สูงที่สุดดและทำได้เร็วที่สุด เนื่องจากกระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนที่จะให้ SFIs ขยายสินเชื่อไปสู่ผู้ใช้บริการรายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ให้บริการหลักแก่ประชาชนรายย่อยอยู่แล้ว
(4) จูงใจผู้ให้บริการสินเชื่อนอกระบบเข้ามาประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ทางการสามารถกำกับดูแลได้ ด้วยการออกกฎหมายใหม่ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อจูงใจให้นายทุนที่ปล่อยกู้สนใจเข้ามาจดทะเบียนและดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับตลาด การผ่อนปรนหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ ยังต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระด้านการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้กฎหมายนี้มากจนเกินไป เช่น การรายงานข้อมูลจะต้องมีน้อยที่สุดหรือการเข้าตรวจสอบของทางการเฉพาะเมื่อมีกรณีร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้คือ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและความปลอดภัยในการใช้บริการ ซึ่งรวมถึงกระบวนการให้ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนได้ โดยขณะนี้ทางการเองได้มีการพิจารณาแนวทางมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพวงเงินไม่สูงมากนักสำหรับประชาชนรายย่อยโดยผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อจูงใจผู้ให้บริการนอกระบบเข้ามาในระบบและปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบได้
อย่างไรก็ดี นอกจากการสนับสนุนบทบาทของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว ทางการควรให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพกลุ่มการเงินชุมชนต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์หรือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้เข้มแข็งเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนรายย่อยในชุมชนในการใช้บริการทดแทนการพึ่งพิงแหล่งเงินจากนายทุนนอกระบบอีกทางหนึ่ง
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จและนำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนรายย่อยอย่างยั่งยืน มาตรการที่จะจัดการปัญหานี้ควรมุ่งเน้นที่การลดความยากจนและเพิ่มศักยภาพแก่ประชาชนให้บริหารจัดการเงินทุนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถของประชาชนรายย่อยจากการกำจัดและปรับเปลี่ยนทัศนคติตลอดจนพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการหนี้และหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบอย่างถาวรได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการส่งเสริมการออม การสร้างวินัยและเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงินในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการรู้เท่าทันต่อผลกระทบที่จะตามมาจากการขาดวินัยทางการเงิน และการใช้จ่ายเกินตัวจนต้องกู้เงินนอกระบบ
---------------------------------------
1) http://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/Documents/FinancialAccessSurveyOfThaiHouseholds_2013.pdf
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย