นางสาวศิรดา หวังภัทรพรทวี
นายอนุชิต ศิริรัชนีกร
หลายท่านคงเคยได้ยินคาว่า “ระบบการชำระเงิน” กันอยู่บ่อยครั้ง แต่จริง ๆ แล้วท่านรู้จักระบบการชำระเงิน ทั้งความหมายและความสำคัญของมันมากน้อยแค่ไหน?
นิยามง่าย ๆ ของระบบการชำระเงินก็คือ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ใช้ในการส่งเงินจากผู้จ่ายเงินไปยังผู้รับเงิน ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเราในหลายๆ ด้าน เช่น การใช้บริการบัตรเครดิต บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต การโอนเงิน การชำระบิลต่างๆ แล้วยังรองรับการบริโภค การลงทุน และการค้าขายทางออนไลน์ (e-Commerce) รวมทั้งการรับ-จ่ายเงินของภาครัฐด้วย ดังนั้น ระบบการชำระเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วใครที่เป็นผู้ดูแลระบบการชำระเงินของไทย คำตอบคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงินให้ระบบการชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น โดย ธปท. เป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดทำแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment Systems Roadmap) ที่เปรียบเหมือนแผนที่นำทางในการพัฒนาระบบการชำระเงินให้ตอบโจทย์และความต้องการของทุกภาคส่วน รวมถึงการร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และผู้ให้บริการการชาระเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการชาระเงินให้มีประสิทธิภาพ ตรงความต้องการของผู้ใช้บริการ และมั่นคงปลอดภัย
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบการชำระเงินไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน รวมทั้งการพัฒนาบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ที่ได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของเรา และเป็นทางเลือกทดแทนการใช้เงินสด เช่น การใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ซึ่งจากสถิติของไทยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2557) ปริมาณการใช้ e-Payment เติบโตอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 1,120 ล้านรายการในปี 2553 เป็น 2,260 ล้านรายการในปี 2557 โดยการชาระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile banking) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุดถึง 63% รองลงมาคือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) (37%) และบัตรเดบิต (Debit Card) (33%)
หากถามว่า e-Payment นั้นดีกว่าการใช้เงินสดอย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ e-Payment มีส่วนช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เร็วและสะดวกขึ้น และเป็นการส่งเสริมการใช้จ่ายซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยจากการศึกษาของธนาคารกลางยุโรป ชี้ให้เห็นว่า e-Payment จะส่งผลโดยตรงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภค และการค้าของประเทศ ตัวอย่างเช่น หากมูลค่าของตลาดบัตรชำระเงินเพิ่มขึ้น 1 ล้านยูโร จะส่งผลให้ระดับของ GDP ของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 0.07% หรือราว 6 ล้านยูโร เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันผู้บริโภคเองก็ได้รับความสะดวกสามารถชำระเงินได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ การใช้ e-Payment ที่มาทดแทนการใช้เงินสดจะยังช่วยลดต้นทุนให้กับประเทศ เนื่องจากการใช้เงินสดมีต้นทุนมหาศาลในการบริหารจัดการ อาทิ การพิมพ์ การขนส่ง การนับคัด และการทำลาย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าระบบการชำระเงินเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล e-Payment จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างครบวงจร โดยเข้ามามีบทบาทรองรับและสนับสนุนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ สรุปง่ายๆ ได้ดังนี้
ประการแรก คือ e-Payment จะช่วยให้ภาครัฐก้าวเข้าสู่ Digital Government โดยเป็นส่วนสนับสนุนการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถใช้บริการของภาครัฐและชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ผ่านช่องออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว และช่วยให้กระบวนการทำงานของภาครัฐมีความคล่องตัว และตรวจสอบได้ง่าย
ประการต่อมา e-Payment จะมีส่วนช่วยส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของธุรกิจให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ในทุกกระบวนการอย่างครบวงจร (Straight-through-processing) ตั้งแต่การซื้อขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงขั้นตอนการชำระเงิน และสามารถตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายกับการชำระเงินได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาด และยังสามารถจัดการข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจให้ตอบสนองต่อลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับประชาชนทั่วไป e-Payment จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวก ทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา และผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย (Anytime, Anywhere, Any devices) เช่น เรียกดูบิลและชาระเงินได้ทางออนไลน์ โอนเงินได้สะดวกด้วยโทรศัพท์มือถือ และชำระค่าสินค้าทางออนไลน์บนเว็บไซต์ e-Commerce ทั้งนี้ โดยสรุป e-Payment จะส่งเสริมการค้าขายและการบริโภคของภาคประชาชนอีกทางหนึ่ง และช่วยให้การไหลเวียนของเงินระบบเศรษฐกิจทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นภาพความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทย และเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล ธปท. จึงจะจัดงานสัมมนา “BOT Conference on Thailand's Payment 5102: ผนึกกาลังผลักดันเศรษฐกิจไทยก้าวสู่ Digital Economy” ในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในงานนี้เราจะได้คำตอบว่า ระบบการชำระเงินจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างไร และทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย