​‘นวัตกรรม’: แรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทย

​ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นางสาวขวัญรวี ยงต้นสกุล

เป็นที่ยอมรับกันว่าในระยะหลังว่า เศรษฐกิจ โลกยุคใหม่จะถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และ นวัตกรรม ซึ่งจากการแบ่งกลุ่มประเทศตามระดับการพัฒนาโดย World Economic Forum (WEF) ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดย ปัจจัยการผลิต (Factor-driven) กลุ่มที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจโดยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) และกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรม (Innovation-driven) ซึ่งมักเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยในปัจจุบันไทยถูกจัดอยู่ในระหว่างกลุ่มที่สอง และกลุ่มที่สาม และอย่างที่ทราบกันว่า ไทยเราขณะนี้ยังติดอยู่ใน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ซึ่งในช่วงใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3-4 % เท่านั้น และยังมีความท้าทายจากหลายด้านทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การลดลงของกำลังแรงงาน และข้อจำกัดและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของประเทศ บทความนี้พยายามจะตอบคำถามสำคัญว่าสถานะและลักษณะการใช้นวัตกรรมของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรในตอนที่ 1 และจะประเมินว่าไทยจะก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมได้หรือไม่อย่างไร ในตอน 2 โดยในตอนที่ 1 จะพูดถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประสบการณ์รูปแบบการใช้นวัตกรรมของต่างประเทศ และช่องทางการใช้นวัตกรรมของไทยทั้งการคิดค้นขึ้นมาเอง และการซื้อมาจากผู้คิดค้น


นวัตกรรม: กุญแจสำคัญสู่การเติบโตใน ระยะยาว

หลายๆ ท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่านวัตกรรมคือ การประดิษฐ์สิ่งของชนิดใหม่เท่านั้น ในความเป็น จริงแล้ว จากงานศึกษาวิจัยจากหลายสถาบันสรุป ได้ว่า “นวัตกรรมเป็นการใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่หรือพัฒนาสิ่งเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ กระบวนการ รูปแบบ องค์กร หรือการตลาดก็ได้” นวัตกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของสินค้า หรือสามารถลดค่าใช้จ่ายการผลิต ขณะที่นวัตกรรมด้านองค์กรส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในระบบงาน และนวัตกรรมด้านการตลาดทำให้ผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาสูงขึ้น

ทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคที่เป็นที่ยอมรับ แพร่หลายอย่าง Solow-Swan Growth Model (1956) ได้อธิบายว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากจะขึ้นอยู่กับการสะสมทุนและกำลังแรงงาน แล้วยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาผลิตภาพ หรือคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Solow (1957) ได้พิสูจน์ในเชิงประจักษ์ว่า บทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นสำคัญกว่าการสะสมทุนถึง 7 เท่า โดยอธิบายว่าการสะสมทุนอาจมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว


นวัตกรรมกับกระบวนทัศน์ใหม่ของโลก

ในปัจจุบัน เรามักจะพบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่ง คือ มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในระดับสูงและต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP อยู่ที่ 2.5%-3.0% ในขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางกึ่งสูง และประเทศรายได้ปานกลาง มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ต่ำกว่า 2.0%

ผลงานวิจัย Global Innovation 1000 จัดทำ เป็นประจำทุกปีโดย Pricewaterhouse Coopers บริษัทตรวจสอบบัญชี Big Four ซึ่งฉบับล่าสุดของปี 2015 ชี้ให้เห็นว่าในแง่ของผู้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาภูมิภาคอเมริกาเหนือลงทุนสูงสุด รองลงมาคือภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่นเดียวกับอันดับในปี 2007 ในแง่ของผู้รับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2015 ภูมิภาคเอเชียรับการลงทุนสูงสุดจากเดิมที่เคยอยู่อันดับสุดท้ายในปี 2007 สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามายังภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยในส่วนของโครงสร้างการลงทุนภายในเอเชีย จะพบว่าประเทศที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด 3 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เราเห็นอินเดียเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นด้วย แสดงถึงความตื่นตัวในการใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น และการยกระดับศักยภาพด้านการผลิตนวัตกรรมของเอเชีย (รูป 1)


หากแต่ไทยยังคงพึ่งพานวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก

ในทางปฏิบัติ ช่องทางการมีนวัตกรรมมี 2 ช่องทาง คือ การคิดค้นขึ้นมาเอง และการซื้อมาจากผู้คิดค้น ในช่องทางแรก เราวัดจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ซึ่งสัดส่วนนี้ของไทยตั้งแต่ปี 2000-2013 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอยู่มาก ในภาพรวม กว่า 60% ของเงินลงทุนมาจากภาครัฐ แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง เงินลงทุนมาจากทั้งภาครัฐและเอกชนในอัตราส่วนเท่าๆ กัน และในช่องทางที่สอง การซื้อนวัตกรรมจากผู้คิดค้น เราวัดจากสถิติดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี (Technology Balance of Payments) (รูป 2) ที่สะท้อนถึงระดับการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ โดยสัดส่วนดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีต่อ GDP ของไทยโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2012-2015 อยู่ที่ 2.3% หากรวมทั้งสองช่องทางแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยมีระดับการใช้นวัตกรรมไม่น้อย โดยพึ่งพาการคิดค้นของต่างประเทศเป็นหลัก โดย 60% ของรายจ่ายทางเทคโนโลยีเป็นค่าที่ปรึกษา และการให้บริการทางเทคนิค ซึ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้ให้ความรู้ และผู้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค และอีก 40% เป็นค่าบริการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งคือค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนและไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงินต้องจ่ายให้กับผู้คิดค้นเพื่อให้ได้รับอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้น ขณะที่เกือบทั้งหมดของ รายรับทางเทคโนโลยีเป็นการให้บริการทางเทคนิค


ผลการศึกษานี้สรุปได้ว่า ไทยมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้นวัตกรรมที่มากขึ้น สอดคล้องกับ ผลวิจัยของ The Global Innovation Index 2015 จัดทำโดย INSEAD พบว่าไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่โดดเด่นในกลุ่ม Upper-middle income countries 38 ประเทศในด้านนวัตกรรม ฉบับถัดไปเราจะประเมินว่าไทยจะก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนวัตกรรมได้ หรือไม่ อย่างไร โดยเจาะลึกข้อมูลระดับบริษัท เพื่อเข้าไปดูว่าในบ้านเรา ใครเป็นผู้นำเข้านวัตกรรม และ เป็นบริษัทประเภทใด รวมถึงแนวนโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย