​ก้าวสู่โลกดิจิทัลผ่านการปฏิรูประบบภาษีทั่วโลก

นช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศหรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม G7 (ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นการประชุมท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่ยังไม่คลี่คลายและภาวะเศรษฐกิจยังเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ในที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงในการจัดเก็บภาษีกับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูประบบภาษีทั่วโลกให้เหมาะสมกับโลกดิจิทัล หลังจากที่เจรจาหารือเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2556 บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงประเด็นนี้ค่ะ

Concept of taxes paid by individuals and corporations such as VAT, income tax and property tax. Background for your business.

ทำไมหลายประเทศจึงผลักดันเรื่องนี้? ที่ผ่านมาเมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจรับทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงธุรกิจที่ให้บริการความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ (E–service) เติบโตเร็วและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลหลายประเทศประสบกับความท้าทายในการเก็บภาษีกับบริษัทที่ดำเนินงานและมีรายได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล เป็นต้น โดยบริษัทเหล่านี้มักจะตั้งสาขาดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลต่ำ (tax haven) เพื่อหลบเลี่ยงภาระทางภาษี และโอนผลกำไรกลับโดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของรายได้ จึงเป็นที่มาของความพยายามในการตั้งอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ เพื่อให้บริษัทจ่ายภาษีในประเทศที่บริษัทสร้างรายได้ และป้องกันการโยกผลกำไรไปสู่ประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลในอัตราที่ต่ำกว่า การบรรลุข้อตกลงนี้ของกลุ่ม G7 ถือเป็นข่าวดีในแง่ความเป็นธรรมในการเรียกเก็บภาษี โดยเป็นการบังคับให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่ขายสินค้าและบริการ

ข้อตกลงดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างไร? เบื้องต้นที่ประชุมเปิดเผยว่า จะนำมาใช้ภายใต้ 2 หลักการ ประการแรก คือ บังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีอัตรากำไรสุทธิอย่างน้อย 10% โดย 20% ของส่วนที่เกินจะถูกเฉลี่ยและเสียภาษีในประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ประการที่สองคือ กำหนดให้อัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำที่ 15% หากบริษัทเสียภาษีต่ำกว่าอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลก รัฐบาลของประเทศที่บริษัทแม่ถือสัญชาติอยู่ก็สามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มจนถึงขั้นต่ำที่ 15% เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แต่ละประเทศแข่งกันลดอัตราภาษีให้ต่ำกว่าประเทศอื่น และป้องกันไม่ให้บริษัทโยกย้ายกำไรไปในประเทศที่เสียอัตราภาษีต่ำกว่า นอกจากนี้ กลุ่มG7 ยังระบุว่าการตั้งอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำนี้จะมาแทนที่ภาษีบริการดิจิทัล (Digital Service Taxes) ที่ก่อนหน้านี้หลายประเทศตัดสินใจเริ่มจัดเก็บจากรายได้ที่ธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัลทำได้ในประเทศนั้น ๆ ในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างรอการเจรจาการปฏิรูประบบภาษีดังกล่าว

แล้วท่าทีของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อข้อตกลงนี้? ด้านบริษัทเทคโนโลยีออกมาสนับสนุนและพร้อมที่จะปฎิบัติตาม โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าในมุมของบริษัทเหล่านี้การเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่บังคับใช้เท่ากันทั่วโลกย่อมดีกว่าภาษีบริการดิจิทัลที่แต่ละประเทศจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน สำหรับท่าทีของประเทศอื่น อย่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD (มีสมาชิกกว่า 30 ประเทศ) ส่งสัญญาณเชิงบวกโดยชาติสมาชิกได้ตกลงร่วมกันเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดการเก็บภาษีดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่ได้ตกลงอัตราภาษีขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ ทำให้ยังต้องติดตามการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ในเดือนกรกฎาคมว่าข้อตกลงของกลุ่ม G7 จะได้รับการยอมรับหรือไม่

ทั้งนี้ การบังคับใช้ข้อตกลงนี้ในระดับโลกยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า ยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กใช้อัตราภาษีต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนมีแนวโน้มจะเสียประโยชน์อาจออกมาเรียกร้องให้ข้อตกลงนี้คำนึงถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กด้วย เพราะขนาดเศรษฐกิจทำให้มีข้อจำกัดในการแข่งขันกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้ภาษีมาดึงดูด ในแง่ของไทย ก็ต้องติดตาม ปรับตัว และพร้อมแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่ออกมาต่อไปค่ะ


ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด”
นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย