นางสาวนันทพร พงศ์พัฒนานนท์
มีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเล็กและเปิด กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีการค้าขายกับต่างประเทศมาก แต่ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เราซื้อขายกับตลาดโลกได้เอง ดังนั้นจึงควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหลักเพื่อดูแลเงินเฟ้อจะเหมาะสมกว่าการใช้ดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งมีต้นตอหลักจากปัจจัยภายนอกได้ตรงจุดกว่าก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนต่างก็มีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกัน รวมทั้งภายใต้ข้อจำกัดที่ว่าหากประเทศใดก็ตามที่เปิดให้เงินทุนไหลเข้าออกได้เสรี เช่น ไทย และสิงคโปร์ ก็จะไม่สามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไปพร้อมๆ กับการกำหนดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศตนได้อย่างอิสระ ดังนั้น แต่ละประเทศจึงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละเครื่องมือให้เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมของตน ซึ่งในกรณีไทย จะเห็นว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้การใช้ดอกเบี้ยยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ประการแรก แม้แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจมีการค้าขายระหว่างประเทศมาก ดอกเบี้ยก็มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เนื่องจากดอกเบี้ยนั้นส่งผลต่อหลายส่วนที่ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ที่ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของแบงก์มีผลต่อการบริโภคการลงทุน ปริมาณสินเชื่อและการออม ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อในที่สุดกลไกระบบแบงก์นี้มีพลังมากในเศรษฐกิจไทยที่ทราบกันดีว่าพึ่งพาแบงก์เป็นแหล่งเงินทุนหลัก นอกจากนี้ การคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุนอีกด้วย ทำให้การสื่อสารของธนาคารกลางมีความสำคัญมาก (ในทางตรงข้าม การสื่อสารในประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทำได้ลำบากกว่ามาก) ด้านราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก็ตอบสนองต่อดอกเบี้ยเช่นกัน เช่นดอกเบี้ยต่ำก็มักกระตุ้นให้คนหันไปลงทุนในหุ้น ที่ดิน จนอาจเร่งราคาให้สูงขึ้น ขณะที่หากดอกเบี้ยสูงจะช่วยลดความต้องการถือสินทรัพย์และชะลอการขึ้นราคาได้ ธนาคารกลางจึงสามารถใช้ดอกเบี้ยในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินและป้องกันปัญหาฟองสบู่ได้
ประการที่สอง แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีที่ค่อนข้างสูง (ปัจจุบันอยู่ที่ 73%) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าภาคการใช้จ่ายในประเทศก็ใหญ่ไม่แพ้กัน โดยมีสัดส่วน 85% ของจีดีพี และก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ดีแม้ช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ ในปีก่อน ปริมาณการส่งออกสินค้าติดลบที่ 0.4% (มูลค่าการส่งออกยังเป็นบวก) แต่การใช้จ่ายในประเทศที่โตถึง8.4% ก็ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 6.4% นอกจากนี้ ที่หลายคนเป็นห่วงว่า หากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักได้รับผลจากเงินบาทแข็งแล้วจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการจ้างงาน ความจริงคือ กลุ่มนี้มีการจ้างงานเพียง 4% ของการจ้างงานทั้งประเทศ จึงต้องไม่ลืมนึกถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีพนักงานหลายสิบล้านคนฝากชีวิตไว้อีกด้วย
ประการที่สาม หากหันไปมองประเทศอื่นๆ ในโลกที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ก็จะพบว่ามีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวเท่านั้น (ไม่นับกลุ่มที่ fix ค่าเงิน) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อจีดีพีที่สูงสุดประเทศหนึ่งในโลก (เกือบ 4 เท่า) สัดส่วนการบริโภคในประเทศต่อจีดีพีมีไม่ถึง 40% รวมถึงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ตั้งแต่สมัยนาย ลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค เลยจำเป็นต้องเลือกที่จะให้ค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบที่ตั้งไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า วินัยทางการคลังที่เข้มแข็งมากของสิงคโปร์เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้กรอบนโยบายการเงินที่อิงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกตอนนี้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าว
ประการที่สี่ หากเราคิดจะนำกรอบนโยบายสิงคโปร์มาใช้ คงต้องดูผลงานของเขาในการดูแลเศรษฐกิจเสียก่อน โดยเมื่อมีแรงกดดันเงินเฟ้อ ทางการจะปรับค่าเงินให้แข็งขึ้น เพื่อทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลงจนลดแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่หากพิจารณาผลงานแล้วพบว่า ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 5% และสิงคโปร์ยังเผชิญกับความผันผวนของราคาบ้าน โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาบ้านเร่งตัวถึงประมาณ 30% พอเกิดวิกฤตปี 2551 ราคาบ้านก็ทรุดตัวลงเกือบ 25% ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสาเหตุจากการที่สิงคโปร์ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย เลยทำให้สิงคโปร์ต้องยอมปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำลงไปตามตลาดโลก และขาดเครื่องมือดอกเบี้ยในการดูแลความสมดุลของระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัย
ประการสุดท้าย มักมีผู้เข้าใจผิดว่าเงินเฟ้อของไทยถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก การคงดอกเบี้ยระดับสูงเพื่อดูแลเงินเฟ้อคงไม่มีผลนัก รังแต่จะดึงดูดเงินทุนไหลเข้าและเพิ่มสภาพคล่องในระบบ แต่หากพิจารณาข้อมูลจะพบว่า เงินเฟ้อไทยกลับมีต้นตอหลักจากความต้องการสินค้าในประเทศ และตะกร้าเงินเฟ้อของไทยเป็นสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำเข้าได้ถึง 65% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยในประเทศนั้น ดอกเบี้ยจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ไทยก็ไม่ได้ fix ค่าเงินดังเช่นในปี 2540 แล้ว จึงมีอิสระในการกำหนดดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดและปัจจัยพื้นฐานของไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ เพราะนักลงทุนจะกลัวขาดทุนหากค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาด
จากที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าในปัจจุบันดอกเบี้ยยังคงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย เพราะดอกเบี้ยยังสามารถแก้ต้นเหตุเงินเฟ้อได้ตรงจุดกว่าอัตราแลกเปลี่ยน ดังจะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาที่เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 10 กว่าปีอยู่ที่ 2.7% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 1.2% และในขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระดับที่น่าพอใจ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย