จากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนที่ปะทุขึ้น สหรัฐฯ จับมือชาติพันธมิตรยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและควบคุมการส่งออกนำเข้าสินค้าบางชนิดกับรัสเซีย นอกจากนี้ยังคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซีย และตัดธนาคารรัสเซียออกจากเครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ (ระบบ SWIFT) ฟากรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการขู่ว่าจะไม่ส่งออกพลังงานให้ เพราะถือว่าเป็นผู้ผลิตหลักของโลกอยู่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริงจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศแถบยุโรปมากที่สุด เพราะนำเข้าจากรัสเซียเป็นหลัก สหภาพยุโรปจึงต้องพยายามหาทางออกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลนำเข้าจากรัสเซียและเร่งผลิตพลังงานสะอาดใช้เองให้เร็วขึ้นอีก วันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาจับตาผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อโอกาสเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในโลกกันค่ะ
I. สหภาพยุโรปเร่งแก้เกมพึ่งพาพลังงานรัสเซียอย่างไร?
ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปยังต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลนำเข้าประมาณ 60% ของความต้องการใช้ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และถ่านหินที่นำเข้ามากถึง 90% 97% และ 70% ของความต้องการบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากรัสเซียประมาณ 45% 27% และ 46% ตามลำดับ
เมื่อสหภาพยุโรปเจอแรงกดดันจากรัสเซียเช่นนี้ จึงต้องเร่งหาทางออกเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว โดยในวันที่ 8 มีนาคม 2565 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก (แผน REPowerEU)1 เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและการขาดแคลนแหล่งพลังงาน และต้องการยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งต้องอาศัยเจตนารมณ์แน่วแน่ในการกระจายแหล่งนำเข้าพลังงาน เร่งสร้างเทคโนโลยีผลิตพลังงานสะอาด และลดความต้องการใช้พลังงานฟอสซิล ยิ่งตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดได้เร็วและชัดเจนขึ้น ก็จะช่วยทดแทนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้เร็วขึ้นตามมา
แผน REPowerEU ประกอบด้วยแผนระยะสั้น – ยาว สรุปได้ดังนี้
1. แผนเร่งด่วน ธนาคารกลางยุโรปประเมินว่า ราคาพลังงานแพงจะทำให้ GDP สหภาพยุโรปในปีนี้ลดลงถึง 0.5% และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจะยิ่งซ้ำเติมผลกระทบเพิ่มอีก จึงต้องออกมาตรการเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบต่อปัญหาความยากจนและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยมีแผนจะบรรเทาราคาขายปลีกพลังงานและช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการคุมราคาก๊าซและค่าไฟฟ้า (regulated prices) หรือให้เงินช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายพลังงานของครัวเรือนรายได้น้อย เกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็ก โดยสามารถใช้มาตรการภาษีนำรายได้รัฐบาลที่จัดเก็บได้เกินคาด (windfall) จากราคาพลังงานสูง และรายได้จากการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission trading revenues) มาใช้รองรับภาระรายจ่ายจากมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงข้างต้นได้ ซึ่งจัดว่าเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากชุดมาตรการเดิมใน toolbox ที่เคยประกาศไปเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ตั้งแต่ช่วงแรกที่สหภาพยุโรปต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาพลังงานแพง
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเร่งจัดหาพลังงานให้พอใช้ในช่วงฤดูหนาว โดยประกาศให้ทุกประเทศเตรียมสะสมพลังงานให้พร้อมเผื่อกรณีเลวร้ายที่ไม่อาจนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้เลย ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องสำรองพลังงานให้ได้อย่างน้อย 90% ของศักยภาพการจัดเก็บภายในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเร่งจัดหาพลังงานล่วงหน้าโดยเพิ่มอัตราคืนภาษี (tax rebate) ให้เป็น 100%
2. แผนลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียภายในปี 2030 โดยกระจายแหล่งจัดหาก๊าซผ่านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) และการเชื่อมโยงระบบท่อส่งก๊าซจากผู้ผลิตรายอื่นนอกจากรัสเซีย การตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตพลังงานทดแทนก๊าซ LNG ด้วยก๊าซชีวภาพ (biomethane) และพลังงานไฮโดรเจน ภายในปี 2030 และลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในระดับครัวเรือน อาคาร ภาคอุตสาหกรรม และประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (เช่น ปรับลดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อน 1 องศาเซลเซียส ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา และปั๊มความร้อนระบบใหม่) เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาดจากลมและแสงอาทิตย์ เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งกระบวนการออกใบอนุญาตโครงการผลิตพลังงานทดแทนให้สะดวกรวดเร็วขึ้นอีก
II. โอกาสไทยเรียนรู้...การเร่งปรับตัวของชาติที่โดนสถานการณ์บังคับ
หันมามองไทยเราก็นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิสูงถึง 90% แม้จะนำเข้าโดยตรงจากรัสเซียไม่มากเท่ายุโรป แต่คนไทยก็ต้องเผชิญผลกระทบจากสงครามที่ทำให้ราคาโภคภัณฑ์โลกสูงส่งผ่านไปต้นทุนพลังงานและต้นทุนการผลิตอื่นๆ ทำให้ค่าครองชีพคนไทยแพงขึ้นอยู่ดี แม้ไทยจะมีกลไกอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐลดผลกระทบได้บ้าง แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและช่วยเหลือวงกว้าง ซึ่งไม่ยั่งยืนและสร้างภาระการคลังสูงมาก2 ในยามที่กำลังเงินภาครัฐมีจำกัดและสถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ อีกทั้งภาครัฐยังต้องเผื่อกำลังเงินไว้รับมือกับศึกโควิด-19 ต่ออีก ที่สำคัญกลไกอุดหนุนพลังงานเช่นนี้ไม่จูงใจให้ประชาชน ธุรกิจ รวมถึงภาครัฐเองเร่งปรับตัวตามสถานการณ์ทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ที่หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาระบบพลังงานโลก (deglobalization) หันมาผลิตพลังงานทดแทนใช้เองให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นอิสระทางพลังงาน
ไทยจึงควรมองโอกาสนี้มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดในระยะยาว ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เข้าสู่วิถีลดโลกร้อน เช่นที่หลายประเทศใหญ่กำลังเร่งเดินเครื่องเต็มสูบได้ทันการณ์ ในภาวะเช่นนี้หากคนไทยช่วยกันประหยัดพลังงาน นอกจากจะช่วยลดภาระค่าครองชีพจากน้ำมันแพงข้าวของแพงได้แล้ว ยังช่วยชาติลดการนำเข้าพลังงานราคาแพงและลดภาระการอุดหนุนได้อีกด้วย ที่สำคัญการเร่งปรับตัวของผู้ผลิตไทยมาให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ช่วยลดโลกร้อน จะช่วยลดผลกระทบจากการโดนหางเลขมาตรการสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อาจรุนแรงขึ้นจากการส่งออกค้าขายกับประเทศนั้น ๆ ที่เร่งเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสีเขียว โดนเก็บภาษีเร่งลดโลกร้อนแพงขึ้นตามไปด้วยก็เป็นได้ค่ะ
ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"
นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 65
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
อ้างอิง
1 European Commission, “Communication on REPowerEU: Joint European action for more affordable, secure and sustainable energy”, 8 March 2022
2 ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2565 พบว่า กองทุนน้ำมันฯ มีหนี้สินจากการอุดหนุนราคาพลังงานสะสมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ผ่านการตรึงน้ำมันดีเซล 2.9 หมื่นล้านบาท และ LPG 2.3 หมื่นล้านบาท เมื่อหักกลบกับสินทรัพย์แล้ว ฐานะกองทุนฯ ยังติดลบเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานะเริ่มติดลบมาตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว ทำให้รัฐบาลต้องขยายเพดานกู้เงินของกองทุนฯ ให้เป็นระยะ เพื่อเปิดทางให้กองทุนฯ สามารถขอกู้เสริมสภาพคล่องได้หากต้องอุดหนุนราคาพลังงานต่อเนื่องได้ในภาวะราคาพลังงานโลกแพงขึ้นมาก และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 รัฐบาลยกเลิกเพดานกำหนดวงเงินบริหารกองทุนฯ รวมวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทออกไปแล้ว เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในกองทุนน้ำมันฯ ในการรับมือวิกฤตการณ์พลังงานโลก