​สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ: สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย?

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี และช่วงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทั้งปีที่ร้อยละ 2.5-3.5 ต่อปี ลดลงจากช่วงคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี


ตัวเลขแรกซึ่งดีกว่าที่หลายสำนักคาดไว้พอสมควร (คาดการณ์เฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี) ไม่ได้เป็นข่าวมากนัก แต่ความสนใจไปอยู่ที่การปรับลดช่วงคาดการณ์ จากเดิมที่มีร้อยละ 3.5 ต่อปีเป็นขอบล่าง ปรับมาเป็นขอบบน

ปรกติแล้ว เวลาตัวเลขไตรมาสดีกว่าคาด สภาพัฒน์มักจะปรับช่วงคาดการณ์ตัวเลขทั้งปีขึ้นหรืออย่างมากก็ให้ไว้เท่าเดิม แต่รอบนี้เป็นการปรับในทิศทางที่ตรงกันข้าม

ยิ่งไปกว่านั้น ค่ากลางที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ยังต่ำกว่าประมาณการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ซึ่งปรกติ เราแทบไม่เคยเห็นแบบนี้ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น

เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่าเป็นการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวในทุกองค์ประกอบหลัก โดยสภาพัฒน์ให้เหตุผลว่าเป็นผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าครองชีพในประเทศ


อย่างไรก็ดี ผมไม่อยากให้มองเศรษฐกิจไทยในเชิงลบมากเกินไป ที่สำคัญ เศรษฐกิจไทยตามคาดการณ์ของสภาพัฒน์ยังเป็นขาขึ้นอยู่ โดยต่อให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โชคร้ายขยายตัวได้เท่ากับแค่ขอบล่างของช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ตัวเลขนี้ก็ยังสูงกว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวในปีที่แล้วที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และตัวเลขการขยายตัวในไตรมาสแรกของปีที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี ตามลำดับ

ตัวเลขล่าสุดของสภาพัฒน์ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.0 หรือไม่ เพราะคิดว่าสภาพัฒน์มีแนวโน้มที่จะให้ตัวเลขที่สูงไว้ก่อน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลจากรายงาน Asia Pacific Consensus Forecasts ฉบับล่าสุด (เดือนพฤษภาคม 2565) ซึ่งสำรวจความเห็นของสำนักวิจัยทั้งของไทยและของต่างประเทศ 22 สำนัก พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีเพียง 5 สำนักวิจัยเท่านั้นที่ให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่ง 4 ใน 5 เป็นสำนักวิจัยในประเทศ สะท้อนว่าสำนักวิจัยต่างประเทศมีมุมมองบวกกว่าสำนักวิจัยไทย

มองไปข้างหน้า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และแนวโน้มที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงแรงจากการระบาดของโอมิครอน อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน ผมเชื่อในหลักการ Prepare for the worst, hope for the best ในช่วงแรกของขาลง เราประเมินการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจต่ำไป ในช่วงแรกของขาขึ้น เราก็อาจจะประเมินการกลับมาของนักท่องเที่ยวนักต่างประเทศและแรงหนุนต่อเศรษฐกิจต่ำไปได้เช่นกัน ขอเพียงรัฐบาลสามารถบริหารจัดการปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพได้ดี เศรษฐกิจไทยน่าจะมี upside ได้ครับ


ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย