นางปราณี สุทธศรี
ที่ผ่านมา ทางการได้ให้ความสำคัญกับการดูแลปากท้องของประชาชนด้วยการขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าไว้ ซึ่งเป็นความตั้งใจดีที่จะช่วยดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง ทำให้ข้าวของไม่แพงเกินไป เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการขึ้นราคาเกินจริงโดยยังไม่ได้มีการตรวจสอบให้แน่ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการขอขึ้นราคามีสาเหตุมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราว การขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาในช่วงสั้นๆ จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บั่นทอนกำไรของผู้ผลิตหรือสร้างภาระที่ผู้ผลิตต้องแบกรับมากนัก แต่หากเกิดกรณีที่ต้นทุนไม่ได้สูงขึ้นเพียงชั่วคราว การตรึงราคาไปนานๆ จะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และถ้าเลือกที่จะทำ ในที่สุดจะส่งผลลบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาว กล่าวคือ
ประการแรก เมื่อขึ้นราคาไม่ได้ ผู้ผลิตมักจะหันมาปรับลดคุณภาพและปริมาณแทน เช่น หันมาใช้ส่วนผสมที่มีราคาถูกและคุณภาพต่ำกว่า หรือลดปริมาณสินค้าลง โดยที่ผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่ทันสังเกต การจ่ายเท่าเดิมแต่ได้คุณภาพและปริมาณที่ต่ำลง เท่ากับเป็น “เงินเฟ้อแอบแฝง” กลายเป็นว่าแม้จะควบคุมราคาได้ แต่ผู้บริโภคก็ยังต้องจ่ายแพงขึ้นอยู่ดี ซึ่งการควบคุมเรื่องพวกนี้ทำได้ยากกว่าการควบคุมราคามาก
ประการที่สอง เมื่อขึ้นราคาไม่ได้ แต่ต้นทุนสูงขึ้น จะทำให้บรรยากาศในการทำธุรกิจเริ่มแย่ลง ผลก็คือผู้ผลิตจะขาดแรงจูงใจในการผลิตและพัฒนาสินค้า รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งในกรณีเลวร้าย ผู้ผลิตอาจตัดสินใจลดการผลิตหรือถึงกับปิดกิจการ รวมถึงลดและเลิกจ้างงาน แน่นอนว่าผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้าที่ถูกควบคุมราคาเท่านั้น แต่จะขยายวงไปถึงผู้ผลิตสินค้าอื่นที่เกี่ยวโยงกันในการผลิตด้วย ขณะเดียวกัน ราคาในประเทศที่ถูกตรึงไว้ จะทำให้ไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพราะนักลงทุนจะเกิดความรู้สึกว่าหากไปผลิตและขายในประเทศอื่นจะสามารถขึ้นราคาได้ง่ายกว่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ส่งผลต่อไปถึงรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการที่สาม การตรึงราคาไปนานๆ จะไม่กระตุ้นให้ประชาชนปรับตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เพราะเคยชินกับราคาที่ถูกตรึงไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ประหยัดการใช้แล้ว ยังเป็นการสะสมความบิดเบือนของกลไกตลาดไปเรื่อยๆ โดยราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนพื้นฐานที่แท้จริง จะก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
ประการที่สี่ หากทางการไม่สามารถขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาต่อไปได้ โดยจำเป็นต้องปล่อยให้สินค้าขึ้นราคา ถึงตอนนั้นราคาอาจพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเงินเฟ้อในระดับสูง อันเนื่องมาจากการสะสมความไม่สมดุลมานาน จึงยิ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนมากขึ้นจากการที่ปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น จากเดิมที่ตั้งใจจะช่วยตรึงราคาสินค้าไว้ให้ได้นานและมากที่สุดเพื่อช่วยประชาชน อาจกลายเป็นการสะสมความเสี่ยงหรือภาระที่ประชาชนอาจต้องแบกรับในอนาคต ซึ่งอาจจะมากกว่าการค่อยๆ ปล่อยให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้บ้างตามสมควร
ประการสุดท้าย กรณีที่สินค้านั้นสามารถส่งออกได้ การตรึงราคาในประเทศไว้ ขณะที่ราคาขายในตลาดโลกสูงกว่า ผู้ผลิตอาจหันไปส่งออกแทน ทำให้สินค้าในประเทศเริ่มขาดแคลนและราคาจำเป็นต้องปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดอยู่ดี ซึ่งหากเป็นสินค้าที่จำเป็น เช่น ข้าว หรือน้ำตาล อาจต้องนำมาตรการอื่นเข้ามาช่วย เช่น จำกัดโควตาในการขายสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดมืด และยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้น
ดังนั้น การจะขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาไปเรื่อยๆ เพื่อหวังจะดูแลเงินเฟ้อ จึงอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว การใช้มาตรการนี้ไปนานๆ จะเสี่ยงต่อการสะสมความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจและเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางการจะต้องหาจุดสมดุลที่ได้คำนึงถึงทั้งในฐานะของผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย