นางสาวอภิชญา เตรัตน์
นางสาวชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล ฝ่ายนโยบายการเงิน
ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า เวลาธุรกิจขอสินเชื่อจากธนาคาร จริง ๆ แล้วธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงต่าง ๆ ที่ธนาคารประกาศไว้หรือไม่ บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจและแนะนำข้อมูลใหม่ที่ธุรกิจอาจนำไปใช้พิจารณาประกอบกับการขอสินเชื่อใหม่ได้
บางท่านอาจพอทราบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธุรกิจจะต้องจ่ายจริงมักไม่เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงต่าง ๆ ที่ธนาคารประกาศแต่จะแพงกว่าหรือถูกกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ กู้สั้น หรือกู้โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน มักจ่ายดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งหากธุรกิจไปขอสินเชื่อใหม่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บกับธุรกิจจริง ๆ จะเรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ (new loan rate: NLR)”
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีชุดข้อมูลการกู้ยืมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งครอบคลุมเฉพาะภาคธุรกิจที่มีวงเงินรวม ณ ธนาคารหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป จึงสามารถคำนวณ NLR ได้ โดย NLR ที่จัดทำขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นจริง เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามวงเงินรายสัญญาที่ธนาคารเรียกเก็บกับธุรกิจที่มาขอสินเชื่อใหม่ ซึ่งพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 4 ประการ ดังนี้
1. ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ประกาศ จะเห็นว่า NLR ของภาคธุรกิจในภาพที่ 1 ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงมาโดยตลอด เช่น หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงอย่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (minimum loan rate: MLR) ที่ธนาคารประกาศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.13 ณ เดือน พ.ค. 63 ขณะที่ NLR อยู่ที่ร้อยละ 3.45 ซึ่งต่ำกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง
2. ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงและ NLR กว้างขึ้น สะท้อนว่าต้นทุนการกู้ยืมสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาปรับลดลง สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มากกว่าการปรับลด MLR โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงปี 51
3. NLR ต่างกันไปตามลักษณะของสินเชื่อธุรกิจ ทั้งในมิติประเภทธุรกิจ วงเงินสินเชื่อ วัตถุประสงค์การกู้ ระยะเวลาการกู้ หรือประเภทสินเชื่อที่ต่างกัน เช่น ในมิติวงเงินสินเชื่อ การกู้สินเชื่อใหม่วงเงินขนาดใหญ่มักได้รับ NLR ต่ำกว่า ดังแสดงในภาพที่ 2 เนื่องจากขนาดวงเงินมักสะท้อนขนาดของธุรกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่มักได้เปรียบจากต้นทุนที่ต่ำกว่าตามการผลิตจำนวนมาก หรือรายได้ที่สูงกว่า ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าธุรกิจขนาดเล็ก