นางสาวชโนทัย พันธ์อุโมงค์
นายกุลฉัตร ธาดานิพนธ์

เชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่คงรู้จักธุรกิจของธนาคารพาณิชย์หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แบงก์” และหลายคนก็คงเคยเดินเข้าแบงก์ไปฝากเงิน ถอนเงินกันบ่อย ๆ อย่างน้อยก็เดือนละครั้งช่วงเงินเดือนออก โดยแบงก์เป็นทั้งแหล่งออมเงินและแหล่งกู้ยืมเงินของประชาชน ภาครัฐรวมถึงภาคเอกชน ทั้งเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยทั่วไปหรือเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจึงแทบจะพูดได้ว่าแบงก์มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนส่วนใหญ่ไม่มากก็น้อย และแบงก์ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากแบงก์ปล่อยกู้โดยไม่มีการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของแบงก์เองได้ และหากประสบปัญหาจนภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ ท้ายที่สุดผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นผู้ฝากเงิน เนื่องจากเงินที่แบงก์นำไปปล่อยกู้ส่วนใหญ่ก็มาจากเงินฝากของพวกเรานั่นเอง ดังนั้น การทำธุรกิจของแบงก์จึงต้องมีความรัดกุมและเหมาะสม

หลายท่านอาจเคยได้ยินสำนวน “อย่าเอาไข่ทั้งหมดไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” (Do not put all eggs in one basket) เพราะหากนำไข่ทั้งหมดมารวมไว้ในตะกร้าเดียวกันและพลาดทำตะกร้าตกก็จะทำให้ไข่แตกทั้งหมดแต่ถ้าแบ่งไข่ที่มีไว้ในตะกร้าหลายใบ ถ้าทำตะกร้าใบใดใบหนึ่งตกก็ยังมีไข่เหลืออยู่ สำนวนนี้ ถ้านำมาเปรียบเทียบการบริหารความเสี่ยงของแบงก์ก็จะหมายถึงการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการกระจุกตัว (concentration risk) โดยเฉพาะการปล่อยกู้หรือการให้สินเชื่อนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าแบงก์ให้กู้กับลูกหนี้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปและหากลูกหนี้กลุ่มนั้นมีปัญหาในการชำระเงินคืน แบงก์ที่ให้กู้ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น แบงก์ควรจะมีการบริหารและควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระจุกตัวของสินเชื่อเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อตัวแบงก์เอง หรือยิ่งไปกว่านั้น ถ้าแบงก์ใดแบงก์หนึ่งมีปัญหาก็อาจจะกระทบต่อแบงก์ทั้งระบบของประเทศ ดังนั้น แบงก์จะต้องมีการกำหนดเพดาน (limit) ในการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งถือเป็นระบบการบริหารความเสี่ยงภายในของแบงก์เอง รวมถึงจะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของผู้กำกับดูแลซึ่งก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit: SLL)

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ๆ ของไทยยังคงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจหรือขยายกิจการ ซึ่งในบางครั้งจำนวนเงินทุนที่ต้องการนั้นสูงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้สามารถกู้ได้สูงกว่าเพดานที่กำหนดหากพิจารณาว่าการผ่อนผันดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงช่วยรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วยโดยในการจะพิจารณาว่ากลุ่มธุรกิจใดมีความเหมาะสมที่จะได้รับการผ่อนผันนั้น แบงก์ก็จะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ซึ่งหลักการในการพิจารณาผ่อนผันก็คือ ลูกหนี้ต้องมีผลการประกอบการที่ดี มีความน่าเชื่อถือ ประเภทธุรกิจของลูกหนี้นั้นต้องเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีผลดีต่อประเทศ และเมื่อแบงก์ให้กู้เกินกว่าเพดานที่กำหนดก็จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รวมถึงต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายเงินกู้ได้หากเกิดภาวะวิกฤต (stress test) โดยต้องประเมินถึงผลกระทบจากภาวะดังกล่าวที่อาจจะเกิดกับฐานะและผลการดำเนินงานของแบงก์ และต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระจุกตัวของการให้สินเชื่อให้บุคคลภายนอกทราบด้วย

จะเห็นได้ว่า แบงก์เป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญในการทำหน้าที่ส่งผ่านเงินทุนจากผู้ออมไปยังผู้ต้องการเงินทุน ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ดังนั้น การทำธุรกิจของแบงก์จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลตอบแทนที่จะได้รับด้วย การพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนจึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายของการบริหารธุรกิจแบงก์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย