นางสาววริษฐา ประจงการ
บทความแจงสี่เบี้ยเมื่อสองสัปดาห์ก่อนได้พูดถึงการวัดความเพียงพอของเงินสำรองระหว่างประเทศ ได้ข้อสรุปว่าหากดูปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ยังเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งอาจไหลออกอย่างเฉียบพลันในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวคงต้องดูพื้นฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจการเงินของไทยในด้านต่างๆ ว่าจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันวิกฤตการณ์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้หรือไม่ ในสัปดาห์นี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์ฐานะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเงินของไทยเทียบกับประเทศกลุ่มที่มีความเปราะบางที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “Fragile Five” ทั้งนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
กลุ่ม Fragile Five ประกอบด้วย บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่ามีความเปราะบางทางเศรษฐกิจทั้งเสถียรภาพภายในประเทศและต่างประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2556 ส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่เผชิญกับการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และค่าเงินอ่อนค่าคล้ายๆ กัน จากการที่นักลงทุนเทขาย (sell off) หลักทรัพย์และย้ายเงินกลับไปลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาที่มีสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2557 แรงกดดันต่อค่าเงินของกลุ่ม Fragile Five มีมากกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ โดยค่าเงินของประเทศในกลุ่มนี้อ่อนค่าลงมาก อาทิ ค่าเงินลีร่าของประเทศตุรกีอ่อนลงมากถึง 7% ภายใน 1 เดือน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางของประเทศกลุ่มนี้ ต้องประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสกัดการไหลออกของเงินทุนและรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนทำให้ Fragile five ต้องประสบกับภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจากปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่สั่งสมมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกลงในระบบเศรษฐกิจ อาทิ
(1) ความเปราะบางด้านการคลัง ประเทศกลุ่มนี้มีการขาดดุลการคลังในระดับสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี จากการขาดวินัยการคลังของรัฐบาล เพราะแทนที่ประเทศในกลุ่ม Fragile Five จะทยอยลดการขาดดุลการคลังเมื่อเศรษฐกิจกลับมาแข็งแกร่งภายหลังจากที่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปก่อนหน้าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 แต่รัฐบาลกลับใช้เงินงบประมาณในการดำเนินนโยบายประชานิยมขนานใหญ่ เช่น การอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมฐานะการคลังของประเทศให้ย่ำแย่ลงและส่งผลให้หนี้สาธารณะเร่งสูงขึ้นต่อเนื่อง (2) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ที่เป็นผลจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก อาทิ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ประกอบกับการนำเข้าที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง เช่นในกรณีของ อินโดนีเซีย และ บราซิล (3) ปัญหาด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศ ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สินเชื่อที่ขยายตัวสูงและสัญญาณปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน (4) การบริหารประเทศของภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพและมีการคอร์รัปชั่นสูง สะท้อนจาก Corruption Perception Index ในปี 2556 ที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International พบว่าประเทศในกลุ่ม Fragile Five เกือบทุกประเทศสอบตกยกเว้นตุรกีที่คาบเส้น โดยปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงและความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศนี้มีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ไทยแตกต่างจาก Fragile five อย่างไร? หากเปรียบเทียบเสถียรภาพของเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของไทยกับกลุ่ม Fragile Five พบว่าไทยยังเข้มแข็งกว่าในหลายด้าน กล่าวคือ (1) ในด้านเสถียรภาพในประเทศ การขาดดุลการคลังต่อจีดีพี และอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ยังต่ำว่ากลุ่ม Fragile Five นอกจากนี้ ไทยยังมีระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ 60% โดยรวมสะท้อนความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทยที่มีมากกว่าในการดูแลเศรษฐกิจเมื่อเกิด shock และ (2) ในด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าและไม่ได้เป็นการขาดดุลเรื้อรังเหมือนกลุ่ม Fragile Five ประกอบกับเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับFragile Five ส่วนใหญ่ เมื่อมาดูสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและต่อการนำเข้าแล้ว ประเทศไทยจัดว่ามีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดีกว่ากลุ่ม Fragile Five ส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นภูมิคุ้มกันด้านต่างประเทศในการรองรับความผันผวน และ shock ที่ดีกว่า
จากการประเมินข้างต้นจะเห็นว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและเข็มแข็งกว่ากลุ่ม Fragile Five ทำให้สบายใจได้ในระดับหนึ่งว่าไทยมีภูมิคุ้มกันที่จะสามารถป้องกันวิกฤตการณ์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของกลุ่ม Fragile Five สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเกิดใหม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินทุนไหลออกฉับพลันจากการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากนักลงทุนในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลงทุนเป็นสำคัญ ประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยจึงต้องระวังไม่ให้ความเปราะบางจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจก่อตัวลุกลามกระทบต่อเสถียรภาพด้านการเงินและด้านต่างประเทศได้ หากประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยประมาทและไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะต่อไปได้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย