​ต้นทุนสูงทุกทาง ผู้ผลิตส่งผ่านราคาแค่ไหน

ปีนี้ผู้ผลิตเจอต้นทุนสูงทุกทางจากน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกแพงหลังศึกรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์แพงที่มาพร้อมห่วงโซ่การผลิตโลกสะดุดตั้งแต่ปีก่อน

สถานการณ์โลกป่วนครั้งนี้ทำให้เงินเฟ้อผู้ผลิตของไทยเติบโต 2 หลักติดต่อกันมาหลายเดือนอยู่ที่ 13.3% ในเดือน พ.ค. (เทียบปีก่อนทั้งปีโต 4.7%) ด้านเงินเฟ้อผู้บริโภคของไทย แม้จะเร่งตัวช้ากว่า แต่ก็ขยับใกล้ขึ้นทุกทีอยู่ที่ 7.1% แล้ว (เทียบปีก่อนทั้งปีโต 1.2%) ทันทีที่รัฐบาลทยอยลดมาตรการตรึงราคาพลังงานน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน พ.ค. เพราะแบกรับภาระหลายหมื่นล้านบาทต่อเดือนไม่ไหว หลังจากประเมินแล้วว่าสถานการณ์ความขัดแย้ง 2 ฝ่ายในโลกคงไม่จบลงง่าย มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และบางประเทศในเอเชียจะยังมีต่อไป ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกอีกนาน

BANGKOK, THAILAND - MAY, 2020: thai female street vendor wearing a mask, looking around and waiting for customers in a busy crowded market street on Ramkamhaeng Rd.

บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้ขอชวนท่านผู้อ่านมาดูข้อเท็จจริงการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคกันค่ะ เพื่อช่วยให้สามารถติดตามการส่งสัญญาณของเงินเฟ้อจากผู้ผลิตไปยังผู้ซื้อได้ทันการณ์ เพราะเงินเฟ้อสูงกระทบค่าครองชีพและสามารถลดอำนาจซื้อในกระเป๋าเงินเราได้แบบไม่ทันตั้งตัว


1. เงินเฟ้อผู้ผลิตเคลื่อนไหวไปกับเงินเฟ้อผู้บริโภค และส่งสัญญาณชี้นำหลายเดือน

ข้อมูลเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภคไทยมีค่าความสัมพันธ์ระหว่างกัน (correlation coefficient) เกือบ 90% หากดูจากข้อมูลในอดีตพบว่า เงินเฟ้อผู้ผลิตไทยมีคุณสมบัติชี้นำเงินเฟ้อผู้บริโภคล่วงหน้าได้ภายใน 4 เดือน แต่ในบางช่วงเวลาคุณสมบัติชี้นำอาจสั้นหรือยาวกว่านั้นได้ขึ้นกับเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น เช่นเกิดช่วงวิกฤต

ดัชนีราคาผู้ผลิต (Production Price Index: PPI) สะท้อนราคาผลผลิตที่ผลิตในประเทศทั้งหมด เป็นราคาที่ผู้ผลิตในประเทศขายสินค้า ณ แหล่งผลิต หน้าโรงงาน หรือหน้าสวนไร่นา สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) สะท้อนราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้จ่าย ตะกร้าเงินเฟ้อผู้บริโภคจึงประกอบไปด้วยสินค้าผลิตในประเทศ สินค้านำเข้า รวมทั้งค่าบริการต่าง ๆ สารพัด เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษา ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ/อินเตอร์เน็ต ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าบริการค่าแรง

เนื่องจากความครอบคลุมของตะกร้าดัชนีราคา 2 ตัวนี้แตกต่างกันอยู่ ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคขยับไปด้วยกันไม่เต็มร้อย องค์ประกอบของตะกร้าเงินเฟ้อไทยราว 1 ใน 3 เป็นค่าบริการต่าง ๆ ที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังมีสินค้านำเข้ารวมอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้ออีกด้วยประมาณ 16% นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างอีกอย่างคือ ดัชนีราคาผู้ผลิตสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศและนำเข้าที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่นที่ไม่ใช่วัตถุดิบ เช่น แรงงาน ทุน การประกอบการ ที่ดิน แต่ยังไม่รวมค่าขนส่งและภาษี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคได้รับผลจากการส่งผ่านต้นทุนรวมของผู้ผลิต ซึ่งรวมค่าขนส่ง ค่าตัวกลางค้าส่งค้าปลีกจากโรงงานถึงผู้บริโภค ภาษีเก็บจากผู้ผลิต (เช่น ภาษีสรรพสามิต) และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากผู้บริโภค



2. ในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อผู้ผลิตส่งผ่านไปเงินเฟ้อผู้บริโภคได้น้อยกว่าปกติ

น่าสังเกตว่าดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคไทยมักแยกจากกันมาก (diverge) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (รูป 1) สะท้อนกลไกการส่งผ่านต้นทุนจากราคาผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคที่ไม่ค่อยปกติในช่วงกำลังซื้ออ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกแพง หรือเกิดโรคระบาดสัตว์ขึ้น ยิ่งทำให้อุปทานผลผลิตสินค้าขาดแคลน จนรัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นบางประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพ ด้านผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวบริหารต้นทุนสูงทุกทางเท่าที่ทำได้ เช่น จัดซื้อวัตถุดิบล็อตใหญ่ ลดต้นทุนสูญเสียในกระบวนการผลิต ลดโปรโมชั่น ลดปริมาณ/ขนาดบรรจุภัณฑ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดส่วนลดการค้าส่ง

ในช่วงวิกฤตโควิด สินค้าหลายกลุ่มมีจังหวะส่งผ่านต้นทุนสูงที่อั้นมานานไปได้บ้างตั้งแต่ต้นปีนี้1 (รูป 2) เช่น อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นม ยาและเวชภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ถูกรัฐบาลคุมเข้มมาก และคนยังจำเป็นต้องซื้ออยู่ แม้ของจะแพงขึ้น แต่ก็มีสินค้าหลายกลุ่มที่ส่งผ่านต้นทุนไม่ค่อยได้มาก เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์เกษตร อาหารทะเล ผักผลไม้ อุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง และยานพาหนะ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสินค้าควบคุมราคา ราคาขายปลีกในประเทศ หรือเป็นสินค้าที่คนอาจจะซื้อน้อยลงมากถ้าราคาแพงขึ้น ทั้งนี้ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตแต่ละกลุ่มสินค้าสะท้อนมาตรการอุดหนุนและควบคุมราคาขายปลีกของภาครัฐ โครงสร้างตลาด และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ต่างกัน



3. ราคาน้ำมันโลกแพงยังไม่สะท้อนมาราคาน้ำมันในประเทศเต็มที่ เพราะภาครัฐช่วยยั้งไว้

ราคาน้ำมันโลกที่ทะยานสูง ยังไม่สะท้อนมาราคาน้ำมันในประเทศเต็มที่นัก เพราะภาครัฐทั่วโลกช่วยลดทอนผลไว้อยู่ โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีมานี้ (รูป 3) แม้แต่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งปกติจะปล่อยกลไกส่งผ่านจากราคาพลังงานโลกไปยังราคาในประเทศที่ค่อนข้างเสรียืดหยุ่น กลับพบว่าตั้งแต่ต้นปีมานี้ ภาครัฐเข้าไปช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ยอมให้ราคาน้ำมันโลกแพงส่งไปยังราคาน้ำมันในประเทศน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเห็นได้ชัด แต่การถ่วงเวลาไว้แบบนี้คงทำได้อีกไม่นาน เพราะกำลังเงินภาครัฐทั่วโลกร่อยหรอลงไปมากแล้ว จึงอาจเห็นแนวโน้มการปล่อยมือทยอยส่งผ่านต้นทุนพลังงานแพงไปยังราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้

สิ่งที่เห็นเรื่องผลกระทบราคาพลังงานโลกนี้ สอดคล้องกับผลศึกษาในต่างประเทศที่พบว่า หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกสูง การส่งผ่านผลไปตามห่วงโซ่ราคาในประเทศของประเทศต่างๆ จะเห็นผลส่งผ่านเป็นบางส่วน (partial) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักหรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยผลกระทบไปสู่ราคาผู้ผลิตจะเยอะกว่าผลกระทบไปยังราคาผู้บริโภค ข้อค้นพบอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ผลส่งผ่านของราคาโภคภัณฑ์โลกสูงไปยังราคาผู้ผลิตจะเห็นได้ชัดทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ผลส่งผ่านไปยังราคาผู้บริโภคกลับเห็นชัดแค่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักเท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่า โดยปกติแล้วภาครัฐกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีมาตรการเข้าช่วยชะลอราคาผู้บริโภคในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาโภคภัณฑ์โลกที่ผันผวนเยอะกว่า


สุดท้ายนี้ การส่งผ่านต้นทุนโลกแพงมาราคาในประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย เป็นไปตามกำลังของภาครัฐที่จะเข้าไปยั้งไว้ได้ชั่วคราวและความสามารถในการแบกรับต้นทุนของผู้ผลิตเพื่อรอจังหวะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาผู้ซื้อ การติดตามทิศทางเงินเฟ้อผู้ผลิตและเงินเฟ้อผู้บริโภค รวมถึงความเข้าใจกลไกการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคเป็นรายหมวดสินค้าที่มีพฤติกรรมโครงสร้างตลาดแตกต่างกัน จะช่วยส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับเมฆดำลอยตั้งเค้ามา เตรียมหาร่มหลบฝน เตรียมปรับตัวลดผลกระทบที่อาจขยายวงกว้างกันได้แต่เนิ่น ๆ ค่ะ


ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย



1ผลเบื้องต้นจากงานศึกษา Global cost pass-through to domestic prices in Thailand: sectoral perspectives ของทีมวิจัยผู้เขียน

เอกสารอ้างอิง

David Amaglobeli, Emine Hanedar, Gee Hee Hong, and Céline Thévenot (2022) “Fiscal Policy for Mitigating the Social Impact of High Energy and Food Prices”, IMF Note/2022/0011.

Rebeca Jiménez‑Rodríguez and Amalia Morales‑Zumaquero (2022) “Commodity price pass‑through along the pricing chain”, Review of World Economics (2022) 158:109–125.