​ฝ่าภัยโควิด-19 ระยะ 1.5 รับรุกปลุกเศรษฐกิจ

ดร. นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



หากมองในมุมเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจแบ่งได้เป็นสามระยะ คือ
1) ช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดในระยะแรก ทำให้ภาครัฐต้องมุ่งดูแลเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบให้สามารถดำรงชีพได้ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพอิสระเพื่อรับเงินเยียวยาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” การให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนเกษตรกร ตลอดจน การให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างในระบบประกันสังคมซึ่งยังไม่ถูกเลิกจ้างแต่ไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัย
2) ช่วงที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ภาครัฐจึงใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสร้างอุปสงค์ในประเทศเพื่อทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ และ
3) ช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลง
"อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 ในระยะ 1.5 คือ เราได้ผ่านช่วงแพร่ระบาดไปแล้ว แต่ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่อาจพัฒนาไปสู่ระยะที่สองที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หรือ ยังกลับมาเกิดการแพร่ระบาดซ้ำกลับสู่ระยะที่หนึ่ง"

เมื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันที่พี่น้องชาวไทยร่วมกันปรับตัวเป็นอย่างดี จนเราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในแต่ละวันให้เหลือเพียงหลักหน่วยมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 ในระยะ 1.5 คือ เราได้ผ่านช่วงแพร่ระบาดไปแล้ว แต่ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่อาจพัฒนาไปสู่ระยะที่สองที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ หรือ ยังกลับมาเกิดการแพร่ระบาดซ้ำกลับสู่ระยะที่หนึ่ง หากเราประมาทพลาดพลั้งการ์ดตก ดังเช่นตัวอย่างในหลายประเทศได้เช่นกัน ในวันนี้ จึงขออนุญาตเชิญชวนทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อมาตรการเศรษฐกิจสำคัญในช่วงโควิด-19 ระยะ 1.5 ซึ่งคงมีความแตกต่างไปจากมาตรการในช่วงแรก เพราะเราคงไม่สามารถคำนึงถึงเพียงแต่เงินเยียวยา แต่ต้องเริ่มคำนึงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน

การร่วมเสวนา เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 : การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน” ในวันที่ 8 พ.ค. โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้แทนจากผู้ประกอบการและแรงงานในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ สมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย และ สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่การสังเคราะห์มาตรการสำคัญสองประการ คือ

มาตรการเชิงรับ การสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอและทั่วถึง โดย ผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จึงไม่สามารถเบิกสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานได้ สถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบันได้กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการออมเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง โดยผู้แทนในการเสวนาทุกท่านไม่ได้เรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยา แต่ต้องการความมั่นคงทางอาชีพ โดยเฉพาะโอกาสในการส่งเงินสมทบระบบประกันสังคมเพิ่มเติมชดเชยเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐจะส่งเสริมพฤติกรรมการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่ดีในระยะยาว

มาตรการเชิงรุก การพัฒนาทักษะแรงงานให้เท่าทันกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผู้เข้าร่วมเสวนา เล็งเห็นความสำคัญของการมีอาชีพที่สองรองรับ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความต้องการในสังคมยุคใหม่ อาทิ การขายของผ่านช่องทาง E-Commerce การให้บริการผ่านการติดต่อด้วยตัวกลาง Application ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่หลายหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการอบรมออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่อาจมีชั่วโมงการทำงานน้อยเมื่อทำงานที่บ้านได้เข้ารับการฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ และน่าสนใจว่า ภาครัฐอาจพิจารณาให้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับเงินเยียวยาสมัครใจเข้ารับการอบรมซึ่งจะเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนได้

โดยสรุปแล้วการก้าวเข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 ระยะที่ 1.5 นั้น คงทำให้พวกเรายังต้องร่วมกันฝ่าฟัน โดย หากทั้งรัฐและเอกชนเล็งการณ์ไกล เริ่มปรับมาตรการและแนวทางการใช้ชีวิต โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในภายภาคหน้า โดยเฉพาะมาตรการเชิงรับในการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจผ่านระบบประกันสังคม และมาตรการเชิงรุกผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เศรษฐกิจไทยก็คงก้าวเข้าสู่การพัฒนาปรับโครงสร้างรับโลกปกติใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>