​เราควรทำอะไรดีกับเงินสำรองระหว่างประเทศ?

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน

ทุก ๆ สัปดาห์ แบงก์ชาติมีการประกาศตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือ เงินสำรองทางการ ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศและทองคำที่แบงก์ชาติซื้อสะสมไว้และนำไปลงทุนในต่างประเทศในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเงินสำรองฯ โตเร็วมากเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จนหลายฝ่ายมีข้อสงสัยต่าง ๆ ว่าประเทศไทยร่ำรวยมั่งคั่งขนาดนั้นเชียวหรือ ทำไมแบงก์ชาติถึงไม่นำเงินบางส่วนไปลงทุนหาผลตอบแทนสูงๆ หรือให้กู้กับธนาคารพาณิชย์ เอกชน หรือแม้แต่รัฐบาลไทยก็ยังดีกว่าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ฯลฯ

บทความนี้จะพยายามตอบคำถามเหล่านี้ โดยอธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินสำรองฯ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีไว้เพื่ออะไร และควรนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ อย่างที่พูดกันหรือไม่ เพราะอะไร


1. ที่มาที่ไปและหน้าที่ของเงินสำรองฯ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เงินตราต่างประเทศที่พ่อค้าไทยขายของได้เกินดุลการค้าและชาวต่างชาตินำเข้ามาลงทุน เวลาจะใช้ก็ต้องขายเพื่อแลกเป็นเงินบาทก่อน เมื่อปริมาณเงินดอลลาร์ที่คนต้องการขายมีมากกว่าความต้องการซื้อ แบงก์ชาติก็กลัวว่าค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่ามากไปเร็วไปจนภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน จึงต้องซื้อดอลลาร์ส่วนเกินออกจากตลาดบ้าง เงินสำรองฯ จึงมีเพิ่มมากขึ้น แต่หากประเทศไทยขาดดุลการค้าหรือชาวต่างชาติถอนทุนออก ความต้องการซื้อดอลลาร์ในตลาดก็จะมีมากกว่าความต้องการขาย แบงก์ชาติก็ต้องขายดอลลาร์เพื่อพยุงไม่ให้ค่าเงินบาทตกลงฮวบฮาบจนอาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ เงินสำรองฯ ก็จะต้องลดลง

ดังนั้น จะเห็นว่าหน้าที่หลักของเงินสำรองฯ คือ เป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทใช้รองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศซึ่งอาจไหลเข้าออกจำนวนมากอย่างฉับพลัน เงินสำรองฯ ต้องมีไว้พร้อมที่จะใช้งานได้ทันที ด้วยเหตุนี้ แบงก์ชาติจึงต้องนำเงินสำรองฯ ไปลงทุนในสกุลเงินและตราสารที่ซื้อง่ายขายคล่องและมีความเสี่ยงต่ำ เวลาต้องขายจะได้แปลงเป็นเงินสดได้ทันที


2. เงินสำรองฯ แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศหรือไม่ ?

ปกติ ความมั่งคั่งร่ำรวยของคนจะดูจากทรัพย์สินที่มีอยู่ด้านเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่ามีหนี้สินเท่าไหร่ด้วย ในทำนองเดียวกัน เงินบาทที่แบงก์ชาตินำไปซื้อดอลลาร์ซึ่งทำให้เงินสำรองฯ เพิ่มขึ้นมากนั้น คือเงินที่แบงก์ชาติกู้จากตลาดการเงินในหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยขายให้สถาบันการเงินและประชาชน ดังนั้น ในบัญชีของแบงก์ชาติจะเห็นทรัพย์สินเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นข้างหนึ่ง แต่อีกข้างหนึ่ง หนี้สินเงินบาทก็เพิ่มขึ้นเท่า ๆ กันด้วย สรุปได้ว่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในมือแบงก์ชาติจำนวนมากนั้น แท้ที่จริงไม่ได้แสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศแต่เป็นทรัพย์สินที่มาพร้อมกับหนี้สิน


3. เงินสำรองฯ ปัจจุบันน่าจะมากเกินพอสำหรับใช้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ดังนั้น ควรนำเงินส่วนเกินไปลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรได้ใช่หรือไม่ ?

คำตอบคือ เห็นด้วย และอันที่จริงแบงก์ชาติก็ได้กระจายการลงทุนไประดับหนึ่งแล้ว แต่ในเรื่องนี้มี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องคิด ประเด็นแรก คือ จำนวนเงินสำรองฯ ส่วนเกินความจำเป็นระยะสั้นนั้นมีความไม่แน่นอน เพราะการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมีขนาดและความรวดเร็วขนาดไหนคาดเดายาก ประเด็นที่สอง คือ ช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ขยายการลงทุนที่เป็นประเภทระยะยาวมากขึ้นกระจายไปสกุลเงินหลากหลายขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องคงนโยบายการลงทุนในกรอบความมั่นคงปลอดภัยมีสภาพคล่อง และให้ผลตอบแทนเหมาะสม ประเด็นที่สาม คือ การที่กฎหมาย ธปท. ฉบับใหม่ก็ยังไม่อนุญาตให้นำเงินสำรองฯ ไปลงทุนในหุ้นสามัญหรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์บ่อน้ำมัน ฯลฯ เป็นเพราะไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของเงินสำรองฯ และขัดกับพันธกิจหลักของธนาคารกลาง ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเชิงพาณิชย์ซึ่งมีโอกาสขัดแย้งกับเป้าหมายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน


4. เมื่อแบงก์ชาติลงทุนเสี่ยงไม่ได้ ทำไมจึงไม่โอนเงินสำรองฯ ส่วนเกินไปให้รัฐบาลจัดตั้ง

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อลงทุนสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ? การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วภาครัฐไม่ได้มีขีดความสามารถในการตัดสินใจลงทุนเชิงธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพเหมือนเอกชน แต่ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ แบงก์ชาติไม่สามารถโอนเงินสำรองฯ ให้รัฐบาลไปเฉย ๆ ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินฟรีที่ได้มาเปล่า ๆ หากรัฐบาลต้องการ ก็ควรจัดสรรงบประมาณแผ่นดินหรือออกพันบัตรเพื่อกู้เงินจากประชาชนแล้วนำไปซื้อเงินสำรองฯ จากแบงก์ชาติ ทั้งนี้ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ เพราะถ้าสามารถออกกฎหมายให้โอนทรัพย์สินของแบงก์ชาติไปให้รัฐบาลได้โดยไม่ต้องโอนหนี้สินไปพร้อมกัน จะมีผลเหมือนกับสามารถบังคับให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ได้นั่นเอง ผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ตามมาจะเป็นในรูปของเงินเฟ้อที่ร้ายแรง และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายการเงินจะหมดสิ้นไป


5. ทำไมแบงก์ชาติไม่นำเงินสำรองฯ ปล่อยกู้กับรัฐบาลหรือเอกชนไทยโดยตรง ?

เหตุผลที่ไม่ควรทำอย่างนั้นมีหลายข้อ ประการแรก การนำเงินสำรองฯ ไปให้กู้จะทำให้เงินสำรองฯ หมดสภาพความเป็นเงินสำรองฯ ไปโดยอัตโนมัติ เพราะถ้าเกิดปัญหาเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย รัฐบาลและเอกชนไทยก็คงจะมีปัญหาด้วย แบงก์ชาติจึงไม่สามารถเรียกคืนเงินกู้ดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ได้ดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศได้ ประการที่สอง แบงก์ชาติจะทำหน้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์เสียเองโดยให้กู้ยืมโดยตรงกับเอกชนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะแบงก์ชาติพิมพ์เงินได้เอง และขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง ประการที่สาม ธนาคารกลางทุกประเทศจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน เพราะมีผลเหมือนการพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้จ่ายนั่นเอง

ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะมีส่วนช่วยให้สาธารณชนมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเงินสำรองระหว่างประเทศ และเหตุผลความจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย