หากเอ่ยถึงนโยบายเศรษฐกิจ คงชวนให้คิดไปถึงตัวเลขชี้วัดภาวะในภาพใหญ่ ๆ อาทิ GDP เงินเฟ้อ งบประมาณ ภาษี ดุลการค้า อัตราแลกเปลี่ยน หรือ อัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ทั้งพฤติกรรมการดำรงชีพ การใช้งานเทคโนโลยี การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ การปรับตัวด้านสาธารณสุขหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น นโยบายเศรษฐกิจที่จะตอบโจทย์พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ไม่จำกัด จึงไม่อาจวิเคราะห์เพียงตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคได้อีกต่อไป แต่ต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลง หรือที่ขออนุโลมเรียกรวม ๆ ว่า นโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นกลไกหลัก


ในวันนี้ขออนุญาตแลกเปลี่ยนตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้อย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสามปีหลัง ภายใต้ คณะอนุกรรมการสภาพัฒน์ฯ ด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งตอบโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืนของไทย ผ่านการศึกษา เชื่อมโยง ประสานงาน เสนอแนะนโยบาย ตลอดจนผลักดันให้เกิดผลขึ้นจริง

การเพิ่มรายได้และการจ้างงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จึงสร้างองค์ความรู้ ผ่านการจัดทำ White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ถอดบทเรียนการหางานพร้อมพัฒนาทักษะของต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน “แพลตฟอร์มไทยมีงานทำ” เป็นกลไกสร้างงานและ เอื้อให้รัฐและเอกชนร่วมกันออกแบบมาตรการรักษาการจ้างงานรายย่อยและมาตรการ Co-payment ในช่วงวิกฤต โดยในวันที่ 14 ก.ย. 65 ได้มีการลงนามความร่วมมือ 52 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะรวมในระบบ “E-Workforce Ecosystem” ที่ครอบคลุม E-portfolio ข้อมูลประวัติบุคคลและการประเมินทักษะ E-Coupon สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะ Digital Credit Bank เชื่อมโยงภาคการศึกษา และ Job Matching จับคู่คนหางานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านกำลังคนอย่างครบวงจรในระยะยาว

การลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมการออกแบบกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 “ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคม ที่เพียงพอ เหมาะสม” ตลอดจน สนับสนุนการต่อยอด Social Lab ส่งเสริมการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินผ่านระบบดิจิทัลและลดต้นทุนการกู้ยืมเงิน ด้วย Credit Scoring Model ร่วมกับ ธ.ก.ส. กรมการข้าว บจก. สฤก และ บจก. คิว บ็อคซ์ พอยท์ เพื่อใช้ติดตามการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเกษตร

หัวใจของการทำงาน คือ การปิดช่องว่างการทำงานแบบแยกส่วนระหว่างภาครัฐด้วยกัน และการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ สร้างโอกาสในการขับเคลื่อนผลการศึกษาจากผู้ดำเนินนโยบายและภาควิชาการทั้งรัฐและเอกชนให้เข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจผ่านคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ และคณะ ครม. จนเกิดผลจริงเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติอย่างทันการณ์ในห้วงวิกฤต และเป็นต้นแบบการทำงานเพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย


ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย