​Global Risks 101 เราติดตามความเสี่ยงโลกอย่างไร

ดร. ทิพย์ประภา เหรียญเจริญ
นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง แต่ “ความเสี่ยงโลก” หรือ “Global Risks” กลับเป็นวลีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเตือนบ่อยครั้ง ทั้งในรายงานเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจการเมืองในกลุ่มยูโร การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) หรือแม้แต่วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดกับค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาและค่าเงินลีราของตุรกี เนื่องจากเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมทั่วโลกมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงมากขึ้นจนแทบจะไร้เส้นแบ่ง ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งสามารถส่งผลกระทบไปยังอีกซีกโลกหนึ่งได้ ดังเช่น Global Financial Crisis (GFC) ในปี 2008 ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ แต่กลับส่งผลกระทบวงกว้างต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงมากเหลือเพียงร้อยละ -2 จากช่วงปกติที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3-4 ขณะที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้น Global Risks 101 จึงเปรียบเสมือนบทเรียนความเสี่ยงโลกขั้นพื้นฐานที่ต้องการทำความเข้าใจและหาแนวทางในการตรวจวัดอุณหภูมิความเสี่ยงโลก รวมถึงชี้ประโยชน์ในการติดตามความเสี่ยงเหล่านี้

“WHAT: ความเสี่ยงโลกคืออะไร” ความเสี่ยงโลกมีหลายประเภท ทั้งความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Financial Risks) ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยี (Technological Risks) และความเสี่ยงทางด้านสังคม (Society Risks) แต่ความเสี่ยงที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น (1) ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก หรือ Financial Risks โดยความเสี่ยงประเภทนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความผันผวนในตลาดการเงินและลามมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ Asian Crisis ในปี 1997 เหตุการณ์ Global Financial Crisis (GFC) ในปี 2008 และ (2) ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitical Risks โดยความเสี่ยงประเภทนี้จะครอบคลุมเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดทางสังคมและการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจต่อไปได้ เช่น การก่อการร้ายของ ISIS ในตะวันออกกลาง เหตุการณ์ 911 ในปี 2011 และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ แม้ว่าผลกระทบจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจจะไม่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยตรง แต่ความเสี่ยงเหล่านี้มักถูกพบว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมของนักลงทุนที่จะชะลอหรือเลื่อนการลงทุนออกไป รวมถึงการเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Asset) อย่างทองคำ และความต้องการน้ำมัน จนสามารถกดดันให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นได้

“HOW: แนวทางตรวจวัดอุณหภูมิความเสี่ยงโลก” คงจะเป็นการยากที่จะตรวจจับความเสี่ยงได้ทุกตารางเมตรในโลกที่มีพื้นที่กว่า 510 ล้านตารางกิโลเมตรและมีประชากรมากถึง 7,300 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในการติดตามความเสี่ยงโดยเฉพาะที่มีผลต่อเศรษฐกิจได้มีเครื่องชี้หรือดัชนีสาหรับติดตามความเสี่ยงมากมาย สำหรับดัชนีที่ใช้ติดตามความเสี่ยงทางการเงิน อาทิ CBOE Volatility Index (VIX Index) และ Global Financial Stress Index (GFSI) โดย VIX Index สามารถใช้ชี้วัดความกลัวของนักลงทุนในตลาดการเงิน ที่คำนวณข้อมูลบนพื้นฐานการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดหุ้น S&P500 ที่มักมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนว่าความผันผวนจะเป็นเช่นไรในอนาคต หาก VIX Index ปรับสูงขึ้นจนผิดปกติจะแสดงถึงความกังวลต่อความเสี่ยงในตลาดการเงินที่มีเพิ่มขึ้น แล้วนำมาสู่ความผันผวนในตลาดการเงินและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป สำหรับ GFSI จะสะท้อนภาพในมุมมองที่กว้างขึ้นและบอกระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุน เช่นเดียวกับ VIX Index หาก GFSI เพิ่มสูงขึ้นแสดงถึงความกังวลที่มากขึ้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดวิกฤตสำคัญของโลกอย่างเหตุการณ์ GFC และ European Debt Crisis ทั้ง 2 เครื่องชี้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่การติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มีดัชนีที่น่าติดตาม อย่างเช่น Geopolitical Risk (GPR) Index ที่ได้เก็บรวบรวมจานวนเหตุการณ์ความตึงเครียดจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำทั่วทุกมุมโลก โดยข้อมูลในอดีตพบว่า หาก GPR Index เพิ่มขึ้นมากจะแสดงถึงความกังวลต่อความเสี่ยงประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่สูงขึ้น เช่น การกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย ISIS ที่เกิดในซีเรียและประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางในช่วงปลายปี 2014 ที่ทำให้ GPR Index ปรับเพิ่มขึ้นมากและได้สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันโลก รวมทั้งราคาน้ำมันขายปลีกในไทยพุ่งสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ดัชนีที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างที่หยิบยกมาเท่านั้น เนื่องจากดัชนีเหล่านี้สามารถติดตามได้ง่ายเพียงแค่ค้นหาในอินเตอร์เน็ต


"WHY: การรู้ทันเสี่ยงโลกมีประโยชน์อย่างไร" ในความเป็นจริงคงไม่มีใครที่จะรู้ทันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกได้ทั้งหมด แต่การติดตามความเสี่ยงด้วยเครื่องชี้ที่เหมาะสม จะช่วยลดจำนวนความเสี่ยงที่ไม่รู้ลงได้บ้าง ดังคำกล่าวที่ว่า "It is not what we know, but what we do not know which we must always address, to avoid major failures, catastrophes and panics" ของ Richard Feynman การรู้เท่าทันความเสี่ยงจึงเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยเพื่อให้ทุกท่านตื่นตัวและปรับพฤติกรรมเพื่อรองรับความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดวิกฤตค่าเงินทั้งในตุรกี เวเนซุเอล่าและอาเจนติน่า แม้จะยังไม่ส่งผลให้เครื่องชี้ความเสี่ยงโลกร้อนแรงมากนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศเหล่านี้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกไม่มาก มีสัดส่วนการค้าต่อการค้าโลกเพียงร้อยละ 1.6 แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือผลกระทบที่อาจลามมายังตลาดการเงินโลก และส่งผลไปยังประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว การติดตามจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ การตรวจจับอุณหภูมิความเสี่ยงสามารถติดตามได้มากกว่า 1 เครื่องชี้และควรเลือกใช้เครื่องชี้ให้เหมาะสมกับประเภทของความเสี่ยงนั้นๆ เพราะคงไม่มีเครื่องชี้ใดที่สมบูรณ์แบบและสามารถบอกความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำในทุกช่วงเวลา การพิจารณาเครื่องชี้อย่างรอบด้านจะทาให้การติดตามความเสี่ยงในภาพรวมเป็นไปอย่างครบถ้วน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย