นายอธิพงษ์ สายแก้ว
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินว่าทางการมาเลเซียลดการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศลงหลังจากที่ตรึงราคามาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ราคาเบนซินและดีเซลปรับสูงขึ้นประมาณ 11% หรือแม้แต่อินโดนีเซียก็ปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเช่นกันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ราคาเบนซินและดีเซลพุ่งสูงขึ้นถึง 44% และ 22% ตามลำดับ ด้วยวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันคือ เพื่อลดภาระการคลัง และลดการนำเข้าพลังงาน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกด้วย
คงเป็นที่ทราบกันว่า อินโดนีเซียเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันกลับเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะภาครัฐอุดหนุนราคาน้ำมันมายาวนาน ทั้งนี้ คิดเป็นเงินงบประมาณที่สูญเสียปีๆหนึ่งกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของเงินงบประมาณในแต่ละปีราคาน้ำมันที่ถูกเกินจริงนี้ทำให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศในที่สุด ทางการอินโดนีเซียคาดว่า การลดอุดหนุนราคาน้ำมันในครั้งนี้จะช่วยลดภาระรายจ่ายการคลัง ทำให้การขาดดุลการคลังลดลงจาก 2.5% เหลือ 2.4% ของ GDP ในปี 2013 และยังช่วยลดการนำเข้าพลังงานอีกด้วย
หากมองย้อนกลับมาที่ไทย ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบปีๆหนึ่งกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (14% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) จึงไม่แปลกที่ภาครัฐจะอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็ทำกัน เพราะน้ำมันเป็นสินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภคและเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ แต่การที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรมานานกว่า 2 ปี โดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและลดภาษีสรรพสามิตลงจนเกือบเป็นศูนย์ แม้จะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก ทั้งที่ความจริงแล้วหากจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าเดิมที่ 5.3 บาทต่อลิตร และเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราปัจจุบัน ราคาดีเซลก็ควรอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อลิตรจึงต้องตั้งคำถามว่า การอุดหนุนราคาอย่างต่อเนื่องในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากเช่นนี้มีความเหมาะสมเพียงใด
แน่นอนว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันอาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการจากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ก็ทำได้แค่ในระยะสั้น แต่หากอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นเวลานานก็คงจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีในระยะยาวเป็นแน่
ประการแรก ภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเสียโอกาสนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในพัฒนาประเทศและยกระดับศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดง่ายๆ ถ้าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1,700 ล้านลิตรต่อเดือน (ข้อมูลการใช้เฉลี่ยต่อเดือนในปี 2012) และภาครัฐลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลงจาก 5.305 เหลือเพียง 0.005 บาทต่อลิตร รายได้ที่ภาครัฐสูญเสียจะอยู่ที่เกือบ 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และจากที่อุดหนุนมาแล้วกว่า 2 ปี ก็คิดเป็นตัวเงินที่สูญเสียไปกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบลงทุนในแต่ละปี และหากเทียบกับวงเงินการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอย่างเช่นรถไฟฟ้าสายสีม่วง เราจะได้รถไฟฟ้าถึง 3 สายเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าเราเสียโอกาสที่จะนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และที่สำคัญหากปริมาณการใช้น้ำมันสูงขึ้นทุกปีตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นหมายถึง รายได้ที่ภาครัฐต้องสูญเสียไปจะต้องมากขึ้นเรื่อยๆ
ประการที่สอง การตรึงราคาน้ำมันในประเทศให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนานๆ อาจทำให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริโภคจะใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย ยิ่งน้ำมันชนิดไหนมีการอุดหนุนราคามาก ปริมาณการใช้ก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การนำเข้าน้ำมันดิบก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ขณะที่ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ยิ่งเรื่องการใช้พลังงานทดแทนอื่นคงยากที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเทียบกับ GDP ของไทยซึ่งเป็นตัวสะท้อนประสิทธิภาพการใช้น้ำมันตัวหนึ่ง พบว่าตัวเลขของไทยยังอยู่ในระดับสูง แม้จะโน้มลดลงจากในอดีตแต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกัน นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของไทยยังค่อนข้างต่ำ สะท้อนความสามารถในแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตที่แย่ลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ประการสุดท้าย หากวันใดวันหนึ่งเกิดสงครามในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ขณะที่ความต้องการสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเฟื่องฟู ราคาน้ำมันโลกคงจะทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เมื่อนั้นภาครัฐคงจะไม่สามารถอุดหนุนหรือตรึงราคาน้ำมันในประเทศต่อไปได้ ผลที่ตามมาคือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้าวของพากันปรับขึ้นราคา ประชาชนอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งผลเสียอาจมากกว่าการที่ภาครัฐทยอยลดอุดหนุนโดยยังคงจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อถึงตอนนั้นราคาน้ำมันโลกเกิดพุ่งขึ้นจริง ก็จะสามารถนำเงินส่วนนี้มาช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้นอย่างรุนแรงได้
จากประสบการณ์ต่างประเทศ ยิ่งบิดเบือนยิ่งสะสมปัญหา ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น หากไม่อยากให้ประเทศไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นที่มีการเริ่มทยอยปรับลดการอุดหนุนไปแล้วจนต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไทยเราอาจใช้โอกาสในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันโลกไม่สูงมากและเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหา ทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศให้เป็นไปตามกลไกตลาด สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ก็เป็นความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องหาแนวทางและกรอบเวลาที่เหมาะสมในการทยอยลดการอุดหนุน เพื่อให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพน้อยที่สุด ประชาชนสามารถปรับตัวได้ และไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากจนเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าสิ่งที่รัฐทำ ก็เพื่อผลดีต่อประเทศในระยะยาว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย