ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เกิดขึ้นทั่วโลกแค่ช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ประเทศที่ไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องเพราะอยู่ไกลคนละซีกโลกจากจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นการระบาดกลับเจอหนักยิ่งกว่า ประเทศที่เหมือนจะคุมสถานการณ์ได้ก็กลับน่าเป็นห่วงขึ้นอีก เราจึงเห็นภาครัฐทั่วโลกระดมสรรพกำลังเครื่องมือการเงินการคลังเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างเต็มที่ วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านตั้งคำถามว่า ภาครัฐจะระดมยิงกระสุนปืนบาซูการบกับวิกฤตโควิดได้อีกมากแค่ไหน และเท่าไรถึงจะเพียงพอ?

สังเกตได้ว่าภาครัฐทั่วโลกยิงบาซูกาขนาดใหญ่ออกมาไล่เลี่ยกัน เพราะเริ่มเห็นแล้วว่า วิกฤตโควิดส่งผลกระทบเร็ว แรง และลึกกว่าวิกฤตที่เคยเจอมา เพราะทำให้เกิดวิกฤตสุขภาพของผู้คนที่ไปโยงให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ จากมาตรการล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมชั่วคราวเพื่อลดการระบาด ล่าสุด ณ ต้นเดือน เม.ย. 63 นี้ วงเงินมาตรการทางการคลังที่หลายประเทศประกาศออกมามีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 10 ของ GDP และใหญ่กว่าที่เคยใช้ในวิกฤตครั้งก่อนๆ แล้ว เช่น อังกฤษ (18%) ฝรั่งเศส (15%) เยอรมัน (14%) อิตาลี (13%) สหรัฐฯ ญี่ปุ่น (11%) (ที่มา) ทั้งนี้ยังไม่รวมวงเงินมาตรการการเงินอื่นๆ ที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน

ในกรณีไทย ถ้าดูขนาดมาตรการดูแลและเยียวยา COVID-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP ก็นับว่าเป็นวงเงินที่ใหญ่กว่าวิกฤตในอดีตเช่นกัน ซึ่งรวมเอา พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก. soft loan เน้นดูแลธุรกิจ SMEs ของแบงก์ชาติ 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินของแบงก์ชาติอีก 4 แสนล้านบาทไว้ด้วยกัน เพื่อดูแลทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน เมื่อเทียบกับ (1) ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 ที่ภาครัฐกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาทภายใต้ 3 พ.ร.ก. คือ พ.ร.ก. กู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน 3 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 7.8 แสนล้านบาท (2) ช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2552 ที่ภาครัฐต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจ (ไทยเข้มแข็ง) 4 แสนล้านบาท และ (3) ช่วงหลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ภาครัฐได้ออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. soft loan ของแบงก์ชาติอีก 3 แสนล้านบาท

ภาครัฐแต่ละประเทศจะเร่งทำอะไรเพิ่มได้อีกแค่ไหนขึ้นกับพื้นที่เครื่องมือนโยบายที่ยังเหลือ หลังจากที่ได้ทุ่มทรัพยากรกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตรอบก่อนๆ ไว้ ด้านเครื่องมือการคลัง กรณีประเทศที่ยังไม่ทันได้สะสางคืนหนี้เดิมที่ภาครัฐเคยก่อไว้ ก็อาจเห็นเครื่องมือการคลังติดเพดานหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนรับมือกับ COVID-19 เช่น อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ กรณีประเทศที่มีวินัยได้ทยอยสะสางหนี้เก่าให้ฐานะการคลังเข้มแข็งพร้อมรับมือวิกฤตครั้งใหม่ได้เต็มที่ ก็จะสามารถช่วยดูแลเยียวยาประชาชนได้มาก เช่น เยอรมัน ด้านเครื่องมือการเงิน บางประเทศใช้เครื่องมือพิเศษที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจการเงิน (quantitative easing : QE) ในขนาดใหญ่ขึ้น เช่น สหรัฐ (กลับมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์อย่างรวดเร็ว และเพิ่ม QE “whatever it take”) สหภาพยุโรป (ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่เพิ่ม QE โดยมองว่า “Extraordinary times require extraordinary action.”) ธนาคารกลางบางประเทศเริ่มใช้เครื่องมือใหม่หลังเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ 0% เช่น ออสเตรเลีย (ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.25% และเริ่มใช้ yield curve control คุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 3 ปี) และนิวซีแลนด์ (ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.25% และเริ่มใช้ QE) จึงพอเห็นได้ว่าตอนนี้พื้นที่ของเครื่องมือการเงินการคลังแต่ละประเทศเหลือไม่เท่ากัน ภาครัฐจะยิงกระสุนใหม่ได้แค่ไหนอาจต้องดูยอดคงค้างภาระเก่าของภาครัฐด้วย ซึ่งดูได้จากระดับหนี้สาธารณะและขนาดงบดุลของธนาคารกลางที่ใช้ทำ QE ว่าจะสร้างภาระใหม่เพื่อออกมาตรการเพิ่มได้อีกแค่ไหน
"สำหรับไทย เครื่องมือนโยบายน่าจะยังใช้ได้อีกพอสมควร พื้นที่การคลังยังเหลือภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ 60% ของ GDP ที่ไทยใช้มานานและไม่เคยสูงเกินเพดานนี้ อีกทั้งยังไม่ค่อยใช้เครื่องมือการเงินพิเศษเหมือนในหลายประเทศ"

สำหรับไทย เครื่องมือนโยบายน่าจะยังใช้ได้อีกพอสมควร พื้นที่การคลังยังเหลือภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ 60% ของ GDP ที่ไทยใช้มานานและไม่เคยสูงเกินเพดานนี้ อีกทั้งยังไม่ค่อยใช้เครื่องมือการเงินพิเศษเหมือนในหลายประเทศ ด้านเครื่องมือการคลัง ยังดีที่ประเทศไทยมีวินัยการคลังช่วยคุมให้ภาครัฐก่อหนี้ใหม่ก้อนใหญ่ได้แค่บางโอกาสที่จำเป็นฉุกเฉินจริงๆ ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แม้ในอดีตภาครัฐไทยเคยต้องรับภาระชดใช้ความเสียหายในภาคการเงินสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งไว้สูงมาก ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งจาก 15% ของ GDP จนใกล้ 60% ของ GDP ในช่วงต้นวิกฤต แม้ปัจจุบันจะยังเคลียร์หนี้ก้อนนี้ไม่หมด แต่ก็ทยอยจ่ายคืนจนหนี้ลดลงไปมากแล้ว หนี้สาธารณะตอนนี้จึงเหลือราวๆ 40% ของ GDP ด้านเครื่องมือการเงิน แม้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเหลือใช้ได้อีกไม่มากหลังลดดอกเบี้ยจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เร็วๆ นี้ก็เริ่มเห็นเครื่องมือใหม่ออกมาเสริมให้การปรับลดดอกเบี้ยผ่านไปยังระบบสถาบันการเงินได้ผลมากขึ้น ทั้งมาตรการการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ พ.ร.ก. soft loan สินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ การลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันการเงินลดลงทันที 0.4%

ถึงตอนนี้วิกฤตโควิดได้สร้างแผลบาดลึกไปทั่วโลกและยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะยาวนานแค่ไหน การที่ผู้คน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยอมเจ็บแล้วจะจบหรือไม่? ภาครัฐยิงบาซูกาแล้วจะพอใช้หรือไม่? จึงยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ภาครัฐคงต้องติดตามประเมินสถานการณ์วันนี้และวันหน้าเพื่อปรับมาตรการให้เพียงพอรองรับ แต่ที่สำคัญคือ เราต่างมีส่วนช่วยลดความรุนแรงและช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ได้ด้วยการไม่ประมาท ตั้งการ์ดป้องกันเชื้อไวรัสให้ดี ซึ่งจะช่วยลดภาระรายจ่ายประเทศ ช่วยให้ทรัพยากรเงินดูแลเยียวยาที่มีจำกัดและมีต้นทุน ใช้ตรงกลุ่มผู้เดือดร้อนได้เร่งด่วนจริงๆ เราทุกคนจึงช่วยลดผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้ได้ ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมและรักษาสุขอนามัย ปรับตัวหาช่องทางสร้างรายได้ ช่วยผู้ที่เดือดร้อนกว่าในวิสัยที่ทำได้ ก็จะช่วยภาครัฐให้ยิงบาซูกาออกมาพอใช้ได้ในทางอ้อมค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>