นายกันตภณ ศรีชาติ
เงินตราที่เราใช้กันมาช้านานก็มีอยู่ทั้งในรูปแบบของธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ แต่ในยุคสมัยที่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น รูปแบบของสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน ในปัจจุบันเราอาจจะคุ้นเคยมากขึ้นกับการใช้จ่ายเงินในรูปของเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-money เช่น การที่เรานำเงินสดไปแลกให้อยู่ในรูปของบัตร และใช้จ่ายผ่านบัตรเหล่านั้นไม่ว่าจะใช้เพื่อเดินทางด้วยรถไฟฟ้า หรือใช้เติมเงินในโทรศัพท์มือถือ ในโลกของอินเตอร์เน็ทหรือโลกออนไลน์ ยังมีรูปแบบของเงินอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “Virtual currency” หรือ เงินเสมือน ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม และยอมรับให้ใช้งานกันภายในกลุ่มสังคมนั้น โดยที่ไม่ได้มีรัฐบาลของประเทศใดรับรอง หรือควบคุมดูแลเหมือนอย่างเงินตราที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
Virtual currency อาจแบ่งตามคุณสมบัติการใช้งานออกได้เป็น 3 รูปแบบคือ (1) เงินเสมือนที่ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าจริงได้และแลกเป็นเงินจริงไม่ได้ โดยรับมาจากโลกออนไลน์ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นการเล่นเกมส์ออนไลน์แล้วได้รับแต้มหรือเงินเสมือน แต่จะใช้ได้แค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น (2) ใช้เงินจริงแลกเปลี่ยนเป็นเงินเสมือน แต่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินจริงได้ เช่น Facebook credit ซึ่งสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ (3) สามารถใช้เงินจริงแลกเปลี่ยนกับเงินเสมือนได้ทั้งสองทาง สามารถใช้ซื้อของได้ทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริง เช่น Bitcoin ที่ค่อนข้างได้รับความสนใจในปัจจุบัน
Bitcoin เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเงินดิจิตอล ซึ่งไม่มีสินทรัพย์หนุนหลังและไม่มีรัฐบาลของประเทศใดรับรองและไม่มีหน่วยงานกลางคอยควบคุมดูแล ซึ่งแตกต่างจากเงินจริง Bitcoin ออกแบบขึ้นมาเมื่อราวปี 2552 ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะค่อยๆ สร้าง Bitcoin ขึ้นใหม่ทุกวัน แต่จะจำกัดปริมาณสูงสุดไว้ที่ 21 ล้าน BTC (หน่วยของ Bitcoin) ในปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการซื้อขาย Bitcoin หลายราย และรับแลกเปลี่ยนระหว่าง Bitcoin กับเงินจริงกว่า 20 สกุลเงินทั่วโลก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ 1 BTC และจะเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณความต้องการของผู้ใช้
การหา Bitcoin มาไว้ในครอบครองมีสองวิธี อธิบายคร่าวๆ คือ หนึ่ง ดาวน์โหลดโปรแกรมมาเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ถูกออกแบบไว้ หากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราหาคำตอบที่ถูกต้องได้ก่อน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก) โปรแกรมจะให้ค่าตอบแทนเราเป็น Bitcoin หรือ สอง ดาวน์โหลดโปรแกรมมาเพื่อเปิด “Wallet” เปรียบเสมือนการเปิดบัญชีเพื่อที่จะใช้งาน Bitcoin จากนั้นเราจึงจะสามารถใช้เงินจริงแลกเปลี่ยนกับผู้ให้บริการรับแลกเปลี่ยน Bitcoin ได้
ในช่วงแรกที่เริ่มมีการใช้งาน Bitcoin มีราคาต่ำมาก แต่ในระยะหลังราคากลับเพิ่มสูงขึ้นและผันผวนได้มาก โดยราคาต่อ 1 BTC เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 230 ดอลลาร์ สรอ. แต่ลดลงเหลือเพียง 165 ดอลลาร์ สรอ. ในวันต่อมา สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่คนให้ความสนใจกับ Bitcoin มากขึ้น เป็นเพราะสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการได้เหมือนเงินจริงมากขึ้นเรื่อยๆ มีต้นทุนในการชำระและโอนเงินต่ำ และมีความรวดเร็วเพราะโอนกันโดยตรงระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเช่นธนาคาร นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Bitcoin มากขึ้น แต่การทำธุรกรรม Bitcoin ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนและไม่มีหน่วยงานกลางควบคุมดูแล Bitcoin จึงมีโอกาสนำไปใช้ในธุรกิจที่ผิดกฎหมายและการฟอกเงินด้วย
แม้ Bitcoin จะมีประโยชน์ในการซื้อขายโอนเงินและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสำหรับผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน ทั้งจากการที่ผู้บริโภคอาจถูกหลอกลวงให้จ่าย Bitcoin แต่อาจจะไม่ได้รับสินค้าหรือบริการจริง หรือไม่สามารถแลกกลับมาเป็นเงินจริงได้ ตลอดจนภัยจากการหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ เช่นเดียวกับการใช้ Internet banking ทั่วไป ประกอบกับลักษณะการทำธุรกรรมของ Bitcoin ที่ไม่เปิดเผยตัวตนผู้ใช้อาจทำให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ การแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ Bitcoin มาก็ไม่ง่ายและไม่ได้ฟรีเสียทีเดียว ต้องลงทุนใช้คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังสูง ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และสำหรับคนที่คิดจะเก็งกำไร ต้องไม่ลืมว่าราคาอาจผันผวนได้มากเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ Bitcoin ไม่มีสินทรัพย์หรือรัฐบาลของประเทศใดเป็นผู้หนุนหลังมูลค่าอยู่ หากความนิยมลดลงในอนาคต ก็อาจไม่มีใครรับแลกคืนเป็นเงินสด หรือราคาของ Bitcoin ลดลงจนกลายเป็นศูนย์ ก็อาจทำให้ Bitcoin หายไปจากระบบในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้น ผู้ที่สนใจจะใช้ Bitcoin จึงควรศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียด มิฉะนั้นท่านอาจจะสูญเงินโดยไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย