​การดำเนินนโยบายการเงินไทย ภายใต้ 'พลวัตเงินเฟ้อ' ที่เปลี่ยนแปลงไป

นางสาววรินทิพย์ วรศักดิ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน


หลังปี 2015 เป็นต้นมา เงินเฟ้อไทยเผชิญแรงกดดันด้านลบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงจากอดีต และลดลงมากจนมาอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการประกาศไว้อยู่หลายปี ซึ่งสาเหตุหลักที่ส่งผลให้พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนั้น มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจไทยและโลก (structural factor) ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปทาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ (1) การพัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐฯ ที่ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกและไทยในระยะหลังจึงมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ กดดันเงินเฟ้อหมวดพลังงานของไทยปรับลดลง (2) การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรของไทย อาทิ การพัฒนาระบบชลประทาน การทำเกษตรและปศุสัตว์ระบบปิด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดความเสียหายของผลผลิตในยามเกิดภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด ประกอบกับไทยมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างไทย-ลาว-จีน ทำให้มีการนำเข้าผักผลไม้จากลาวและจีนมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในไทยมีปริมาณมากขึ้น และกดดันให้เงินเฟ้อหมวดอาหารสดของไทยไม่เร่งสูงเหมือนในอดีต และ (3) การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อผ่านระบบออนไลน์ ปรับขึ้นราคาได้ยาก เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างแล้ว เงินเฟ้อไทยยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยชั่วคราวหรือปัจจัยเชิงวัฏจักร (cyclical factors) ด้วย อาทิ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากดดันความต้องการบริโภคสินค้าในประเทศ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะของไทย อาทิ ปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดไข่และหมู ส่งผลให้ราคาหมวดอาหารสดในประเทศลดลงค่อนข้างมากในช่วงในช่วงปี 2017-2018ก่อนที่ปัญหาเริ่มคลี่คลายและทำให้ราคากลับมาเพิ่มขึ้นได้ในช่วงต้นปี 2019


เงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มต่ำต่อเนื่อง สร้างความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย โดยการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้งนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาข้อมูลภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงในระบบการเงิน และประเมินผลกระทบของการทำนโยบายการเงินต่อเสถียรภาพต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยจะทำนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา

ยกตัวอย่างเช่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงและต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน (2.5 + 1.5%) แต่ กนง. ประเมินว่าเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงนั้นมีสาเหตุจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและเป็นแรงกดดันจากด้านอุปทานเป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจในช่วงนั้นยังขยายตัวได้ดีและสอดคล้องกับศักยภาพ การใช้นโยบายการเงินซึ่งเป็นนโยบายบริหารจัดการด้านอุปสงค์เข้าไปดูแลอาจมีประสิทธิผลจำกัดหรืออาจต้องทำนโยบายให้ผ่อนคลายมากและเป็นระยะเวลานานเพื่อดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ซึ่งการทำนโยบายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงิน เนื่องจากการทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมแสวงหากำไรที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น กนง. จึงตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี บริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงและต่ำกว่าศักยภาพจากการส่งออกที่ชะลอลงมาก และเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เงินเฟ้อปรับลดลงและมีโอกาสต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน กนง. จึงพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย

นอกจากนี้ พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ยังสร้างความท้าทายในการพิจารณากำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมของไทยในอนาคต เนื่องจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเกินไปทำให้อัตราเงินเฟ้อต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นในการกลับเข้าสู่เป้าหมายจนอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน รวมถึงลดทอนความสามารถในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์มีผลต่อการตั้งราคาสินค้าและบริการตลอดจนค่าจ้างของผู้ประกอบการ หากนโยบายการเงินไม่สามารถยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายนโยบายการเงินที่ตั้งไว้ได้ จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของนโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยพบว่าตั้งแต่ปลายปี 2016 ข้อมูลการคาดการณ์เงินเฟ้อไทยใน 5 ปีข้างหน้าของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทยอยปรับลดลงจากค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้ม ปรับลดลงต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ดังนั้น ทางการควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับต่างๆ โดยประเด็นเรื่องพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไปถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาในการทบทวนเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย