รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ดร.จิตเกษม พรประพันธ์นางสาวฐิตา เภกานนท์นายพลเทพ หอมศรีวรานนท์
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นมรสุมที่ถาโถมเข้าสู่ SMEs ไทย ที่นอกจากจะทำให้ยอดขายลดลง ซึ่งถือเป็นผลกระทบโดยตรงแล้ว ในระยะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ยังเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ทวีความรุนแรงขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถูกยืดระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้า (Credit term) โดยเฉพาะจากคู่ค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า
ภาคธุรกิจของประเทศไทยส่วนใหญ่ทำการค้าขายโดยให้สินเชื่อการค้า สอดคล้องกับผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าร้อยละ 96 ของการทำธุรกิจของไทยในรูปแบบ B2B มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการร่วมกัน ดังนั้น “ระยะเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า หรือระยะเวลา Credit term” จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสภาพคล่องและการบริหารจัดการวงจรเงินสดของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา Credit term ของภาคธุรกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ระยะเวลา Credit term ที่ SMEs ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 60 วันโดยเฉลี่ย และในบางธุรกิจขยายไปสูงถึง 120 วัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ไต้หวัน 45 วัน อินโดนีเซีย 34 วัน และสิงคโปร์ 29 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้า (Supplier) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมักจะถูกขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้นผ่านการใช้อำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในปี 2559 พบว่า ระยะเวลา Credit term ของบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term ของ SMEs ซึ่งอยู่ที่ 30 – 45 วัน ส่งผลให้ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหาแนวทางให้ลูกหนี้การค้าชำระค่าสินค้าและบริการตามกำหนดการเดิมเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่ใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เช่น การให้แบ่งงวดชำระหรือการให้ส่วนลดเพื่อให้จ่ายตามกำหนดเดิมหรือเร็วขึ้น
การเพิ่มขึ้นของระยะเวลา Credit term ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจที่นำมาสู่ปัญหาด้านหนี้สินและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง หากพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในหลาย ๆ ประเทศได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term สำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งการบังคับใช้และเงื่อนไขแตกต่างกันไป สามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางหลักคือ
1. แนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ (Business guidance)
เช่น Prompt Payment Code ประเทศอังกฤษ กำหนดให้การซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ (B2B) ต้องชำระหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 95 ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ภายในระยะเวลา 60 วัน นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมจะต้องเปิดเผยและรายงานระยะเวลา Credit term อย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นสาธารณะที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานเพื่อกระบวนการตรวจสอบ ติดตามและประมวลผล
2. ข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (Law & regulation)
เช่น กฎหมายรัฐสภาฉบับที่ 728 เรื่อง ‘การคุ้มครองการชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs’ ประเทศจีน กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่ ชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs ภายใน 30 - 60 วันนับจากการส่งมอบ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ให้แก่ SMEs
สำหรับประเทศไทย ภาครัฐยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term จึงเสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมายรวมถึงมีแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด โดยรายละเอียดข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินงานมีดังนี้
1. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเภทธุรกิจ ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term นี้ สอดคล้องและมีความยืดหยุ่นเพียงพอกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ควรมีการศึกษาการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่เดิมมีการค้าขายด้วย Credit Term ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ควรมีการพิจารณาช่องทางการแก้ไขปัญหาหากมีกลุ่มธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term รวมถึง การกำหนดข้อยกเว้น สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้เนื่องจากเหตุผลอันสมควร เช่น กรณีมีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก (Financial distress)
2. กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) โดยการเปิดเผยระยะเวลา Credit term ควรนำมาใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมิน Socially Responsible Investing อาทิ การประเมินให้ตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ (CGR) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการลดระยะเวลา Credit term เช่น กรมบัญชีกลางจัดสรรโควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ธปท. และสถาบันการเงินกำหนดสิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีระยะเวลาในการปรับตัว หน่วยงานผู้รับผิดชอบควรกำหนด “ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน (Transitional period)” ให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมเพื่อสามารถประยุกต์ใช้เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term อาทิ ประเทศจีนที่ช่วงเปลี่ยนผ่านมีระยะเวลา 2 เดือน ก่อนที่เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term จะมีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาสร้างกลไกการตรวจสอบ ติดตาม และเพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคธุรกิจ ประกอบกับการกำหนดตัวชี้วัดกลาง (KPI) ที่ยึดโยงกับหน่วยงานรับผิดชอบ โดยประเมินจากทั้งตัวแปรเชิงปริมาณและตัวแปรเชิงคุณภาพ เช่น จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term ของธุรกิจขนาดใหญ่เฉลี่ยลดลงเป็น 30 – 45 วันภายในปี 2564 เป็นต้น
โดยสรุป การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (ระยะเวลา Credit term) ถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ โดยควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการเสริมสภาพคล่องในมิติอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อประเภท Supply chain financing เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนให้แก่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน การสนับสนุนและพัฒนาระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การเสริมสร้างทักษะในการดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการขยายตลาดบนโลกออนไลน์และการส่งออก เป็นต้น
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>