ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
นายกัมพล พรพัฒนไพศาลกุล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
“Machines are coming to take our jobs” คำกล่าวนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง หน่วยงานวิจัยหลายแห่งคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI IoT (Internet of Things) ที่ใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตสินค้าบริการและในชีวิตประจำวันว่าจะมาทดแทนหรือถึงขั้นยึดครองตลาดแรงงานหรือไม่ ซึ่ง OECD (2018) ประเมินว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า 14% ของแรงงานมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และอีก 30% เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทักษะที่ใช้ในการทำงานอย่างมาก และรายงานล่าสุดของ Mckinsey Global Institute เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของงาน (Work Activities) ที่เคยใช้แรงงานคนจะถูกทดแทนโดยระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาของการไม่สามารถสร้างเยาวชนและคนวัยทำงานให้มีทักษะการทำงานและทักษะชีวิตที่สูงพอที่จะเผชิญการทำงานยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ทำให้เราเกิดคำถามว่าตลาดแรงงานและการศึกษาและฝึกอบรมของไทยพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพงานและทักษะแรงงานแห่งอนาคตได้หรือไม่อย่างไร
1. ทุนมนุษย์ของไทย: ผลิตภาพแรงงานไม่โต หุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์?
จากข้อมูล Asian Productivity Organisation (APO) ปี 2561 ชี้ว่าผลิตภาพแรงงานไทยที่วัดโดย GDP ต่อคนน้อยกว่าสิงคโปร์เกือบ 5 เท่า โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมและยังลดลงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ไทยยังมีขนาดแรงงานนอกระบบถึง 55% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคม ส่วนใหญ่มีการศึกษาและผลิตภาพต่ำ มีรายได้น้อยเทียบกับแรงงานในระบบ
ในมิติความเสี่ยงด้านหุ่นยนต์แย่งงานคน งานศึกษาของ World Bank (2016) พบว่าระยะหลังเริ่มเห็นแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นในกลุ่ม Emerging Markets วัดจากจำนวนสต๊อกของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งไทยติดอยู่ในอันดับต้นๆ ในกลุ่มนี้ คาดว่าไทยน่าจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้นเพราะคุ้มค่าต่อการลงทุนหากดูจากทั้งปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระยะเวลาการใช้งาน ในด้านผลกระทบต่อการจ้างแรงงาน ILO (2016) คาดว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า 56% ของแรงงานทั้งหมดใน ASEAN-5 จะได้รับผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง ก่อสร้าง และธุรกิจ BFSI (Banking, Financial Service, Insurance) จะเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสร้างความเสี่ยงต่อแรงงานหลากหลายทักษะอาชีพ และมีความต้องการสูงในทักษะเฉพาะมากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้บริหารและผู้ประกอบการที่สามารถคิดค้นผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ นักพัฒนาซอฟต์แวร์และฐานข้อมูล
2. การยกระดับทักษะแรงงาน: ไทยพร้อมรับมือกับคลื่น “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” แล้วหรือยัง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่ๆ คนทำงานในอนาคตจึงต้องมี “ทักษะชุดใหม่” ที่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ทำให้เกิดแรงกดดันให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลาหากต้องการอยู่ในตลาดแรงงานต่อไป สอดคล้องกับรายงาน “The Future of Jobs Report 2018” ของ World Economic Forum ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการทั่วโลกถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานภายในปี 2565 พบว่า 54% ของแรงงานทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาทักษะทั้งการ Reskill และ Upskill ในส่วนของไทยรายงานระบุว่าผู้ประกอบการให้ความเห็นสอดคล้องกับภาพรวมทั่วโลก กล่าวคือประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยต้องรับการพัฒนาทักษะทั้งด้าน “Technical Skill” โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงนวัตกรรม และความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม รวมถึง “Human skill” ที่สามารถเข้าใจจิตใจและอารมณ์ของผู้อื่นได้ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ (รูป 1)
ปัจจุบัน กลไกและสถาบันการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทยมีอยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยภาครัฐมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล ซึ่งพันธกิจสำคัญคือ “พัฒนาทักษะคนทำงานทุกระดับและผู้ประกอบกิจการให้มีผลิตภาพสูงสู่ไทยแลนด์ 4.0” มีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานใน 25 จังหวัด ให้บริการด้านการฝึกอบรมแก่แรงงานในหลายสาขาอาชีพ เช่น ช่างฝีมือ 7 สาขา เทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงสาขาหุ่นยนต์และ AI การฝึกเตรียมเข้าทำงาน ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น รวมประมาณปีละ 2-3 แสนคน และหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานครเองก็มีศูนย์ฝึกอาชีพ 17 แห่ง อบรมแรงงานปีละ 2 หมื่นคน นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการอบรมเฉพาะทาง เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ให้บริการฝึกอบรมแก่ประชาชนทั่วไป โดยในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้พัฒนาศักยภาพแรงงานทั้งลูกจ้างในสถานประกอบการ นักเรียน/นักศึกษา และประชาชนทั้งสิ้น 4.78 ล้านคน ส่วนภาคเอกชน ธุรกิจขนาดใหญ่มักมีสถาบันจัดฝึกอบรมให้พนักงานของตนเอง เช่น โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ของ SCG บริษัทปัญญธารา ของ ซีพี ออลล์ บริษัท มิชลิน ประเทศไทยเป็นต้น จากข้อมูลกระทรวงแรงงานปี 2560 ภาคเอกชนฝึกอบรมแรงงานเฉลี่ยปีละ 4.3 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกอบเฉลี่ยปีละ 10,952 บริษัท
หากเจาะลึกข้อมูลการฝึกอบรมแรงงานปี 2560 ที่จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พบว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับฝีมือ รองลงมาคือ สร้างอาชีพเสริม และเตรียมเข้าทำงาน สาขาการฝึกอบรมที่มีความต้องการสูงสอดคล้องกับสาขาที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเกือบ 40% เป็นสาขาช่างฝีมือด้านการผลิต ส่วนใหญ่กระจุกในสาขาช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ รองลงมา 17% เป็นสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่อยู่ในกลุ่มอาชีพแม่บ้านของโรงแรม แม่ครัวและพนักงานเสิร์ฟ โดยในแต่ละสาขามีอัตราการเรียนจบหลักสูตรเกือบ 100% และอัตราการสอบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของช่างฝีมือด้านการผลิตและด้านบริการอยู่ในระดับสูงที่ 70%-90% ขณะที่สาขาอาชีพอื่นอยู่ในอัตราต่ำกว่า (รูป 2)
3. Lifelong Learning, Employability Skills และการสร้างนวัตกรรม: กุญแจสำคัญของการพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานแห่งอนาคต
หุ่นยนต์มาจากคำว่า “โรบอต” (Robot หรือ Robota) ในภาษาเช็ก ซึ่งแปลว่า “ทาสหรือผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน” หุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรกของโลกสร้างขึ้นในปี 2504 การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ทั้งหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำอย่างไรที่แรงงานแห่งอนาคตจะฝึกควบคุมและทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำตอบคือการพัฒนายกระดับทักษะแรงงานที่เน้นการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (Lifelong Learning) ในสาขาที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต ความรู้พื้นฐานเพื่อการจ้างงาน (Employability Skills) และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยเราจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยแนวทางต่อไปนี้ 1) ภาคเอกชนควรร่วมกันกับภาครัฐลงทุนด้านการพัฒนาแรงงานโดยเฉพาะการออกแบบหลักสูตรที่สนองตอบต่ออุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เหมือนเช่นในเยอรมนีและสิงคโปร์ และขยายบทบาทการจัดฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยรวมถึงกลุ่มแรงงานของธุรกิจขนาดเล็กและแรงงานนอกระบบ 2) การเชื่อมโยงทักษะแรงงานต้องการในอนาคตกับระบบการศึกษาไทยให้มากขึ้นโดยเฉพาะทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงนวัตกรรมและทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม และ 3) ควรมีกลไกไตรภาคีระหว่าง รัฐ เอกชน และแรงงาน ร่วมกันพัฒนาทักษะคนไทยเพื่อให้เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่