​ปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างไร ให้ธุรกิจไทยอยู่ยั่งยืน

​นางสาวจุฑารัตน์ เลิศสกุลพันธ์
ฝ่ายตรวจสอบ 1

ภายใต้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งผลจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา สงครามการค้าระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกา และภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศที่ผ่านมา กำลังส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะฟันเฟืองที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเริ่มขาดสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้เสื่อมลง หากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างถูกวิธีและทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง จนอาจกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ในท้ายที่สุด

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้เพื่อป้องกันมิให้หนี้ดี หรือหนี้ปกติเสื่อมค่าลงจนกลายเป็นหนี้ที่มีปัญหา หรืออาจเป็นการแก้ไขฟื้นฟูหนี้ที่มีปัญหาให้กลับมามีสถานะเป็นหนี้ปกติ โดยเฉพาะกับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการจ่ายชำระหนี้ในระยะสั้นเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังพอมีความสามารถในการหารายได้ หรือมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและแข่งขันในตลาดได้ต่อไป ช่วยลดความสูญเสียทั้งต่อสถาบันการเงินและลูกหนี้ให้น้อยที่สุด ซึ่งมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้

1. เร่งติดตามดูแลลูกหนี้โดยเร็ว สถาบันการเงินควรมีกระบวนการและระบบงานสำหรับติดตามสถานะลูกหนี้อย่างใกล้ชิด การพิจารณาปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกอย่างครบถ้วน เพื่อใช้ในการส่งสัญญาณเตือนหากสถานะทางการเงินหรือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลง ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างทันท่วงที

2. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสม สถาบันการเงินต้องพิจารณาและประเมินได้ว่าลูกหนี้ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจเป็นการชั่วคราว โดยยังคงมีกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานที่ชัดเจน เพียงแต่กระแสเงินสดในขณะนั้นไม่ได้สะท้อนถึงฐานะและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการในภาวะปกติ ซึ่งหากลูกหนี้ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมแล้ว ลูกหนี้มีแนวโน้มที่จะกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดังเดิม

ในการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินควรมีขั้นตอนการวิเคราะห์สาเหตุที่หนี้มีปัญหา ประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของปัญหาด้านการเงินของลูกหนี้ โดยพิจารณาจากข้อมูลแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการวิเคราะห์เพื่อนำมาตัดสินใจ พร้อมประมาณการทางการเงินบนสมมติฐานที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลและเป็นไปได้ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ทางการตลาด ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับฐานะและผลการดำเนินงานของลูกหนี้ รวมทั้งการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องมีความเป็นไปได้ และลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขใหม่ โดยต้องสอดคล้องกับอายุโครงการ ลักษณะธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และช่วยทำให้ฐานะการเงินของลูกหนี้ดีขึ้นจนมีความสามารถจ่ายชำระหนี้คืนภายใต้เงื่อนไขที่มีการปรับปรุงใหม่ได้โดยตลอดอายุสัญญา

3. เริ่มปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่มีสัญญาณผิดนัดชำระ สถาบันการเงินต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ และดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างทันท่วงที หากเริ่มเห็นสัญญาณการชำระหนี้ของลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขสินเชื่อ เพื่อลดความสูญเสียจากการที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ และป้องกันผลกระทบที่จะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงินที่อาจด้อยลง นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยเช่นกัน

4. ติดตามผลหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด สถาบันการเงินควรจัดให้มีการประเมินคุณภาพหนี้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจัดให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าและผลประเมินต่อหน่วยงานและผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหากรณีลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

5. ลูกหนี้ควรติดต่อสถาบันการเงินโดยเร็วเมื่อเริ่มมีปัญหา ในส่วนของลูกหนี้ เมื่อเริ่มรู้ว่ามีปัญหาสภาพคล่อง ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินแต่เนิ่นๆ เพื่อร่วมมือกับสถาบันการเงินแก้ไขปัญหา ในหลายกรณีที่ลูกหนี้ไม่ให้ข้อมูลหรือไม่ติดต่อสถาบันการเงินโดยเร็ว อาจทำให้ปัญหาลุกลามจนแก้ไขได้ยากหรือกลายเป็น NPL ในที่สุด

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้สถาบันการเงินติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดอุปสรรคและข้อจำกัดของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่กลุ่มลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อใช้ในการดำเนินงานและต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน จึงได้ออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ไปยังสถาบันการเงิน เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ที่เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และปรับการจัดชั้นลูกหนี้ได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีแนวโน้มเครดิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ให้สามารถขอสินเชื่อใหม่เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างทันท่วงที

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย