​20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ (1): จากบทเรียนสู่การรับมือกับความท้าทายข้างหน้า

​ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
สายนโยบายการเงิน

“ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าจะเป็นบทพิสูจน์ สำคัญอีกบทหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยและอาจยากลำบากกว่าที่เราเคยพบในอดีต”

ปี 2560 นี้ครบรอบ 20 ปีของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่มีลักษณะ “วิกฤตคู่” คือเกิดวิกฤตค่าเงินและวิกฤตสถาบันการเงินพร้อมกัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปขนานใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฝ่าคลื่นลมและบทพิสูจน์สำคัญ ได้หลายครั้ง ทั้ง “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ปี 2551 และมหาอุทกภัยปี 2554 อย่างไรก็ดี โลกในยุคปัจจุบันนับว่าเป็นโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี จะเป็นบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายข้างหน้าเหล่านี้ได้หรือไม่ วันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะมองย้อนกลับไปในอดีต สำรวจตัวเองในปัจจุบัน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการเดินทางข้างหน้าที่อาจยากลำบากกว่าที่เราเคยพบมา



1. ต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ประวัติศาสตร์โลกบอกเราว่าวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ว่าประเทศ ร่ารวยหรือยากจน และเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจาก การสะสมความเสี่ยงในช่วงก่อนหน้า โดยผู้คนในเวลานั้นไม่คาดคิดว่าการสะสมความเสี่ยงดังกล่าวจะนำไปสู่วิกฤตเช่นเดียวกับวิกฤตปี 2540 ความเสี่ยงได้สะสมมาตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวสูง ทุกฝ่ายมุ่งการเติบโตในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและลงทุนเกินตัว ส่วนใหญ่ไหลไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินขยายสินเชื่อโดยไม่ระมัดระวัง นำไปสู่ “ภาวะเศรษฐกิจ ฟองสบู่” ทางการเองก็เผชิญกับทางเลือกเชิงนโยบายที่ยากลาบาก (Policy Trilemma หรือ Impossible Trinity) นั่นคือ สามารถเลือกใช้นโยบายได้เพียงสองในสามอย่างของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นอิสระจากตลาดโลกเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยในปี 2539 การส่งออกหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูง ตลาดการเงินจึงคาดว่าทางการไทยอาจไม่สามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ได้และโจมตีเงินบาทเพื่อเก็งกาไรหลายครั้งในปี 2540 ในครั้งนั้นทางการไทยได้ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ก่อนจะประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวที่มีการจัดการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ในที่สุด


2. การฟื้นฟูและยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

หลังเกิดวิกฤต รัฐและเอกชนต่างเร่งแก้ไขและช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว การจัดการกับวิกฤต เริ่มจากด้านค่าเงิน ไทยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และมิตรประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเงินบาท ด้านสถาบันการเงิน ทางการได้สั่งลดทุนก่อนที่จะเพิ่มทุนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นต้องรับความเสียหายก่อน (Bail-in) และปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาโดยรับประกันเงินต้นและเงินฝากให้เจ้าหนี้และผู้ฝากเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่น (Blanket Guarantee) จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ดำเนินการประมูลสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดไป รวมทั้งต่อมาจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ของเอกชน เพื่อแยกหนี้ดีและหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินออกจากกัน ทำให้สถาบันการเงินสามารถกลับมาทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อได้อีกครั้ง ด้านธุรกิจและประชาชน ได้เร่งกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ภาคเอกชนกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ภาครัฐได้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอีกด้วย

หลังการแก้ไขเร่งด่วนผ่านพ้นไป ได้มีการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันอย่างขนานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายมีความรอบคอบและโปร่งใส เป็นอิสระจากการเมือง นโยบายการเงินได้เปลี่ยนมาใช้ ”กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น” เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายและเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจานวน 4 คนจากทั้งหมด 7 คน และการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อต้องตกลงร่วมกับกระทรวงการคลังและต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทุกปี เพื่อสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลกัน หลังจากเริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ตั้งแต่ปี 2543 นับว่าได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เงินเฟ้อส่วนใหญ่อยู่ในกรอบเป้าหมายและมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาของไทย (ปี 2543-2559) อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียที่ร้อยละ 7.2 หรือฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 4.0

ด้านนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปลี่ยนการกำกับดูแลจากเดิมที่เน้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance-based) มาเป็น “การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบเน้นความเสี่ยง” (Risk-based Supervision) โดยนำเครื่องมือประเมินความเสี่ยงตามมาตรฐานสากลมาใช้ เช่น Basel 2 และ Basel 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เป็นต้น ดำเนินการปรับโครงสร้างตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2547 และปัจจุบันอยู่ในช่วงของแผนระยะที่ 3 (ปี 2559-2563) โดยให้สถาบันการเงินควบรวมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และให้บริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีการวางกลไกป้องกันและรองรับกรณีที่เกิดวิกฤต เช่น เครดิตบูโร ทาหน้าที่รวบรวมข้อมูลเครดิตของธุรกิจและประชาชนเพื่อให้การประเมินสินเชื่อเป็นไปอย่างถูกต้องและผู้กู้ที่เครดิตดีสามารถขอสินเชื่อได้สะดวกในต้นทุนที่เหมาะสม สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ช่วยให้ประชาชนจะได้รับคืนเงินฝากในส่วนที่คุ้มครองไว้อย่างรวดเร็วและทางการจะสามารถปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี" ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในเอเชีย ที่ประสบวิกฤตเป็นช่องทางเพิ่มเติม นอกเหนือจากการพึ่งพาแหล่งเงินจาก IMF แห่งเดียวเช่นในอดีต


3. หนทางข้างหน้าท่ามกลางกับดักรายได้ปานกลาง สังคมสูงวัย และความเหลื่อมล้ำ

ตลอด 20 ปีแห่งการปรับโครงสร้างที่ผ่านมา ประเทศไทยเดินทางมาไกลพอสมควร สถาบันการเงินเรียนรู้ ปรับตัว และเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้เสียที่ลดลงจากร้อยละ 45 ในช่วงวิกฤตเหลือร้อยละ 3 ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจได้รับบทเรียน พัฒนาตนเอง และแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 5 เท่าเหลือเพียง 1.3 เท่า การกำกับดูแลกิจการมุ่งธรรมาภิบาลมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนบริษัทไทยที่อยู่ใน Dow Jones Sustainability Index มีถึง 14 บริษัท ภูมิคุ้มกันที่สะสมจากวิกฤตดังกล่าว ทำให้ไทยสามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมเศรษฐกิจทั้งนอกและในประเทศมาได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 หรือเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 แต่ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าจะเป็น บทพิสูจน์สำคัญอีกบทหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยและ อาจยากลำบากกว่าที่เราเคยพบในอดีต ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงในภาวะ “New Normal” ในช่วงหลังวิกฤตค่าเฉลี่ย GDP ปี 2542-2550 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่ปัจจุบันค่าเฉลี่ย GDP ปี 2556-2559 ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งที่ร้อยละ 2.4 แม้บางส่วนมาจากปัจจัยเชิงวัฏจักรเศรษฐกิจที่เป็นขาลง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมาหลายปีทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและด้านคุณภาพ รวมทั้งปัญหาประสิทธิภาพ การผลิต นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยในปัจจุบันคนรวยที่สุดของประเทศ 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนจนที่สุด 10% สุดท้ายอยู่ถึง 22 เท่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ไทยจะหาทางออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ยากขึ้น และความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอาจทวีความเข้มข้นของปัญหามากขึ้น


4. โลกข้างหน้าที่ไม่เหมือนเดิมในภาวะ “New Normal”

โลกในปัจจุบันเป็นโลกที่ไม่เหมือนเดิม สภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือฝนแล้งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทั้งด้านดิจิทัลและหุ่นยนต์สร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ มากมาย เช่น การเรียกรถโดยสารเพื่อเดินทาง การค้าขายสินค้าออนไลน์ ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจรูปแบบเดิมโดยเฉพาะ SMEs ที่ปรับตัวไม่ได้ต้องออกจากตลาดไป สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนต้องรีบปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต

โลกแห่งอนาคตที่ไม่เหมือนเดิมมีพลวัตเศรษฐกิจแบบ “VUCA” คือ ผันผวนสูง (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) เชื่อมโยงซับซ้อน (Complexity) และไม่ชัดเจนในผลลัพธ์ (Ambiguity) ที่อาจส่งผลให้การก่อตัวของวิกฤตในอนาคตที่ไม่เหมือนในอดีต ดังนั้น การมีค่านิยมและแก่นความคิด (Value and Mindset) ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นรากฐานสำคัญ โดยเราทุกคนสามารถนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ได้ คือ “ความพอประมาณ” “ความมีเหตุผล” “การมีภูมิคุ้มกัน” รวมกับ “ความรู้” และ “คุณธรรม” ซึ่งหากเราเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่ถูกต้องแล้ว การวางแผนและปรับตัวย่อมมีความเป็นไปได้เสมอ ในบทความฉบับถัดไปคณะผู้เขียนจะแยกแยะว่าประเด็นความท้าทายที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยมีอะไรบ้าง และเราควรปรับตัวต่อไปอย่างไร

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย