​ฐานหลักของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ดร. นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ




รายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เร็ว ๆ นี้ ได้สะท้อนถึงความน่ากังวลของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านภาพรวม ที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2563 เป็นหดตัว -8.1% จากที่คาดว่าจะหดตัว -5.3% ณ เดือน มี.ค. และเคยมองไว้ก่อนมหาวิกฤตโควิด-19 จะปะทุขึ้นว่าจะเติบโตได้ 2.8% ณ เดือน ธ.ค. ปีก่อน และในด้านรายละเอียด ที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ เหลือเพียง 8 ล้านคน จากที่เคยประเมินไว้ที่ 15 และ 41.7 ล้านคน ณ เดือน มี.ค. 2563 และ ธ.ค. 2562 ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้กำลังแสดงให้เห็นว่าการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในประเทศได้เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่เราต้องลุ้นให้การแพร่ระบาดในโลกยุติลงโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศคู่ค้าของเรามีกำลังซื้อและกลับมาเที่ยวไทยได้ตามปกติ จึงจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจก้าวพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้
"รายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดได้สรุปไว้ในบทวิเคราะห์พิเศษว่าต้องเร่งดูแล เยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง บนพื้นฐานของการไม่นำไปสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน"

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์มีความสำคัญยิ่งยวด จึงขอเชิญชวนทุกท่านแลกเปลี่ยนมุมมองถึงบทบาทของนโยบายเศรษฐกิจ โดยขอเริ่มต้นที่การทบทวนวัตถุประสงค์ของนโยบายดังที่รายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดได้สรุปไว้ในบทวิเคราะห์พิเศษว่าต้องเร่งดูแล เยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง บนพื้นฐานของการไม่นำไปสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ไม่สร้างภาระการคลังให้กับรัฐบาล หรือภาษีของประชาชนในอนาคตมากเกินควร และที่สำคัญ คือ ต้องเอื้อและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่โลกใหม่หลังการระบาดคลี่คลาย บทบาทของนโยบายการคลังและการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินไปเพื่อเยียวยาแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุมจำนวนประชากรที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วมากกว่าหนึ่งในสาม และอาศัยเม็ดเงินงบประมาณไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ประเด็นสำคัญ คือ จะอาศัยหลักการใดในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจไปข้างหน้า ภายใต้ความไม่แน่นอนสูงว่าเมื่อใดเศรษฐกิจโลกจึงจะฟื้นตัวได้หลังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดของขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ทั้งในภาคการคลังและการเงิน เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวขออนุญาตหยิบยกหลักคิดจากการสนทนาธรรมระหว่างพระมหาฟูกิจ ชุติปัญโญ และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ ชีวิตและการปฏิบัติธรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ โดยมีการถกถึงสามฐานสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะขออนุญาตประยุกต์มาใช้ประกอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ฐานคิด คือ ประเมินสถานการณ์บนพื้นฐานข้อมูลและเครื่องมืออย่างรอบด้านฐานทำ คือ ลงมือปฏิบัติให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด ทั่วถึง เพียงพอ และทันการณ์
ฐานใจ ดำเนินการเป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในภาพรวม

เริ่มจากต้องมีฐานคิด คือ ประเมินสถานการณ์บนพื้นฐานข้อมูลและเครื่องมืออย่างรอบด้าน มีการให้มุมมองไปข้างหน้าอย่างครบถ้วนทั้งในด้านบวกและด้านลบ แล้วนำไปสู่ฐานทำ คือ ลงมือปฏิบัติให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด ทั่วถึง เพียงพอ และทันการณ์ อย่างไรก็ดี การคิดและทำจะไม่เพียงพอ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้น จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในคราวเดียวกัน โดยเป็นเรื่องปกติที่ผู้ได้ประโยชน์มักจะไม่แสดงออกนัก ต่างจากผู้เสียประโยชน์ที่อาจแสดงความคิดเห็นได้มากในวงกว้าง ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องยึดฐานที่สาม คือ ฐานใจ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในภาพรวม มีการรักษาความสมดุลระหว่างการกระจายตัวทั่วถึงของกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือและไม่ให้เป็นภาระต่อประเทศในอนาคตมากเกินควร รวมถึงความสมดุลระหว่างการเยียวยาให้ภาคเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้โดยไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการขวนขวายปรับตัวพัฒนา

โดยสรุปแล้ว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จะต้องอยู่บนทั้งสามฐานหลัก คือ ฐานคิด ฐานทำ ฐานใจ จึงจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พ้นปัญหาได้ โดยขอทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า สาเหตุที่ประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายการคลังและการเงินได้อย่างทันท่วงทีในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการสะสมความเข้มแข็งทางการคลัง การบริหารจัดการความเสี่ยงในระบบการเงิน และการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งสถานะเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีความแข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับในสากลโลก ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือ การรักษาภูมิคุ้มกันของเราให้ยังเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง จึงจะรองรับความไม่แน่นอนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นได้



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย



>>