​เมื่อ “เงิน” ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

นายวัชรกูร จิวากานนท์

ในยุคนี้ ยุคแห่งโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนสื่อสาร ทำธุรกิจ ค้าขาย และเดินทางต่างประเทศกันมากขึ้นนั้น “เงิน” ที่เป็นเสมือนเลือด เป็นเสมือนน้ำมันที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเดินทางข้ามประเทศด้วย คนทั่วไปอาจคุ้นเคยกับการพกเงินตราต่างประเทศ หรือการใช้บัตรพลาสติกประเภทต่าง ๆ รูดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ แต่ทราบหรือไม่ว่าเงินของคุณสามารถเดินทางข้ามพรมแดน (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่นกัน

การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคาร - คุณสามารถทำรายการผ่านบริการและระบบของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะส่งคำสั่งโอนเงินของผู้โอนไปเข้าบัญชีของผู้รับเงินที่เปิดไว้กับธนาคารในต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นสาขาของธนาคารเดียวกันกับผู้โอนหรือธนาคารพันธมิตร และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่คุณสามารถสมัครใช้บริการและสั่งโอนเงินได้เองผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสะดวก คล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว เงินยังเดินทางได้ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การซื้อดราฟท์/ตั๋วแลกเงิน ซึ่งสามารถส่งไปยังผู้รับเพื่อเบิกเป็นเงินสดหรือเข้าบัญชีที่ธนาคารในต่างประเทศ ในขณะที่การซื้อเช็คเดินทาง ผู้สั่งซื้อจะต้องเป็นผู้เบิกใช้เองในต่างประเทศ

การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านสถาบันที่มิใช่ธนาคาร - การโอนเงินผ่านตัวแทนส่งเงินข้ามประเทศ เช่น Western Union หรือ MoneyGram ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีจุดเด่นคือผู้รับเงินสามารถรับเงินแบบเร่งด่วนภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังการโอนเงิน แต่อาจมีค่าธรรมเนียมในการโอน รวมถึงการคิดคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีบริการของผู้ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ เช่น Paypal ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการรายย่อย เพราะมีความสะดวก และไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบัญชี PayPal แต่ผู้ใช้บริการจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อต้องการนำเงินออกจากบัญชี Paypal ไปเข้าบัญชีธนาคาร

การกดเงินในต่างประเทศผ่านตู้เอทีเอ็ม ด้วยบัตรที่มีสัญลักษณ์ของผู้ให้บริการเครือข่ายต่างประเทศ - หากไม่ต้องการพกเงินสดในต่างประเทศให้กังวลใจ คุณสามารถใช้บัตรพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็ม ถอนเงินสดที่เครื่องเอทีเอ็มในต่างประเทศได้เช่นกัน โดยคุณต้องสังเกตตราสัญลักษณ์ของผู้ให้บริการเครือข่ายต่างประเทศ (Switching center) บนบัตร ให้สอดคล้องกับตราสัญลักษณ์เครือข่ายที่ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลระหว่างธนาคารบนเครื่องเอทีเอ็มในต่างประเทศ เช่น ผู้ถือบัตร Visa ต้องหาเครื่องเอทีเอ็มที่มีสัญลักษณ์ PLUS ส่วนบัตร MasterCard ก็ต้องมองหาสัญลักษณ์ Cirrus เป็นต้น ทั้งนี้ การถอนเงินสดที่เครื่องเอทีเอ็มในต่างประเทศ ผู้ให้บริการจะมีการคิดค่าธรรมเนียมหลายประเภท เช่น ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมในการทำรายการ และค่าธรรมเนียมที่เจ้าของเครื่องเอทีเอ็มคิดค่าบริการ

การกดเงินในต่างประเทศผ่านตู้เอทีเอ็ม ด้วยบัตรเอทีเอ็มของไทย - คนไทยยังสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มโดยทั่วไปที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งในการถอนเงินสดในต่างประเทศได้เช่นกัน เพียงมองหาสัญลักษณ์ ATM Pool บนเครื่องเอทีเอ็มในประเทศสมาชิกกลุ่ม Asian Payment Network (APN) ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีข้อตกลงด้วย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้ทำการเชื่อมต่อระบบเอทีเอ็ม กับ 5 ประเทศสมาชิกAPN ได้แก่ มาเลเซีย (ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ทหารไทย ยูโอบี และ ธนชาต) เกาหลีใต้ (ธนาคารกรุงไทย ทหารไทย ยูโอบี และ ธนชาต) เวียดนาม (ธนาคารทหารไทย และ ธนชาต) ฟิลิปปินส์ (ธนาคารทหารไทย) และอินโดนีเซีย (ธนาคารทหารไทย) สำหรับประเทศสิงคโปร์อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงระบบกับไทย

การใช้บัตรเอทีเอ็มตามโครงการ APN นี้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการในเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการใช้บัตรพลาสติกที่ใช้บริการเครือข่ายต่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม ถือได้ว่าโครงการนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก โดยดูได้จากปริมาณและมูลค่าการใช้ที่ค่อนข้างน้อยมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ที่ผ่านมา มีคนไทยใช้บัตรเอทีเอ็มตามโครงการ APN กดเงินสดที่เกาหลีใต้เพียง 5 ราย และฟิลิปปินส์เพียง 2 รายเท่านั้น แม้กระทั่งสถิติการกดเงินสดในประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีความร่วมมือกับไทย ก็ยังมีปริมาณไม่มากนัก

ถึงตรงนี้ คุณคงจะเห็นกันแล้วว่า “เงิน” ของเราสามารถเดินทางข้ามพรมแดนไปต่างประเทศไปพร้อมกับกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจได้หลายหลายช่องทาง ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละวิธีการย่อมมีข้อดีและข้อจำกัด เช่น บางบริการได้รับเงินรวดเร็ว บางวิธีทำธุรกรรมได้สะดวก บางเส้นทางค่าธรรมเนียมสูง บางช่องทางใช้ได้กับบางประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ หากคุณเข้าใจวิธีการต่าง ๆ รวมถึงทำความรู้จักกับวิธีการใหม่ ๆ คุณก็จะสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับการเดินทางของเงินคุณ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย