​วิกฤตฝุ่น PM 2.5 กับการธนาคารที่ยั่งยืน

นางสาววิภานุช รักษาพล
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน

สบายใจ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราทุกคนในเกือบทุกพื้นที่ของไทยต้องเจอกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น รถยนต์ที่สภาพเครื่องยนต์เก่าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์และปล่อยควันพิษออกมา โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยเขม่าควันเกินค่ามาตรฐาน โครงการก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายโดยไม่ได้มีมาตรการจัดการที่ดี และการทำการเกษตรโดยทำการเผาพื้นที่ มาประจวบกับสภาพอากาศที่ลมนิ่ง ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ จึงทำให้ระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูงขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น อันที่จริงปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถสัมผัสได้ทุกวันนี้ และจากความรุนแรงของปัญหาที่ทวีขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศได้ตื่นตัวกับการนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาใช้เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ผู้เขียนอยากเริ่มโดยชวนให้ลองนึกถึงผลกระทบทางธุรกิจที่ตามมาจากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ว่ามีอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา ต่อระบบเศรษฐกิจ หรือนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินอย่างไร และเหตุใดเราทุกคนจึงควรให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แม้เมื่อมองจากมุมด้านเศรษฐกิจการเงินและการธนาคาร

ความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบทางตรงลำดับแรกคือผลกระทบต่อสุขภาพ โดยหากเป็นคนวัยทำงาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานหรือการผลิตลดลง และในระยะยาวอาจทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคภัยร้ายแรงสูงขึ้น ซึ่งหากเป็นผู้ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ยิ่งทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทำให้รายได้และความสามารถในการบริโภคลดลง หากเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานและต้องพึ่งพารายได้จากคนในครอบครัวที่อยู่ในวัยทำงาน ก็จะยิ่งซ้ำเติมความสามารถในการใช้จ่ายของคนในครอบครัวเข้าไปอีก ซึ่งโดยรวมแล้วอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง ตลอดจนอาจเป็นภาระการคลังแก่ภาครัฐ ลำดับต่อมาคือผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย หากปัญหาฝุ่นละอองเรื้อรังยาวนานก็อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลา 1 เดือน สูงถึง 2,600 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางการเงินที่ตามมาจากความพยายามในการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ได้มาตรฐานอาจถูกสั่งให้มีการระงับการดำเนินการจนกว่าจะมีการแก้ไข ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงินได้ ดังนั้น หากในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของลูกหนี้ในมิติของความยั่งยืนแล้ว ความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเครดิตตามมาได้

วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้สะท้อนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ก่อตัวสะสมรุนแรงและใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่เพียงแต่ความเสี่ยงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้างต้นเท่านั้นที่สามารถส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินได้ การดำเนินธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงมิติเชิงสังคมและธรรมาภิบาล เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการ รวมถึงสนับสนุนช่องทางการคอร์รัปชั่น ก็สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างได้ จากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น เราควรย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ทุกหน่วยในสังคมต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไปได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ไม่สายเกินไปหากทุกฝ่ายเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ในหลายประเทศทั้งภาครัฐและผู้กำกับดูแล เลือกใช้วิธีการออกแนวนโยบายส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินปฏิบัติเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน เช่น ประเทศจีนได้ออก Green Credit Guideline เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนใช้แนวทางการให้แรงจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์และฮ่องกงออกโครงการ Green Bond Grant Scheme เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศที่มาระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรที่มีเงื่อนไขเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทุนในระบบเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ เช่น สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่ใช้พลังงานทางเลือก หรือโรงงานที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐาน และที่สำคัญด้านประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงิน ควรมองหาผู้ให้บริการทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังในเรื่องนี้ และบอกตัวเองว่าเรามีสิทธิเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่ให้คุณค่ากับความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้เป็นอีกแรงผลักดันทางฝั่งผู้ใช้บริการ ส่งไปถึงฝั่งผู้ให้บริการให้ตระหนักถึงความคาดหวังในเรื่องนี้ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาเรื่องนี้ให้ดีขึ้นต่อไป

ผู้เขียนเชื่อว่า หากทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง กลไกตลาดจะสามารถทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้คุณค่าแก่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ และส่งผลเชิงบวกต่อการดำเนินงานในเชิงตัวเลข และท้ายที่สุดเมื่อทุกคนได้ทำหน้าที่อันพึงจะทำแล้ว เราคงคาดหวังได้ว่า จะสามารถส่งต่อสังคมที่น่าอยู่ สังคมที่มีสิ่งแวดล้อมดี ๆ และมีธรรมาภิบาลที่ดีให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อไปของเราได้อย่างแท้จริง


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย