​การศึกษาพฤติกรรมของครัวเรือนไทยจากฐานข้อมูล Townsend Thai Data

นายสุพริศร์ สุวรรณิกสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์


ในระยะนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้กลับมาคลุกคลีกับฐานข้อมูลระดับครัวเรือน Townsend Thai Data อีกครั้ง ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำรวจครัวเรือนเดิม ๆ ในประเทศไทย เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันเป็นภาษาวิชาสถิติว่า “ฐานข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำ (household panel data)” หลังจากเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผู้เขียนได้เคยจัดทำสรุปข้อมูลนี้ร่วมกับศาสตราจารย์ Robert M. Townsend ผู้ริเริ่มโครงการ และได้ใช้ข้อมูลนี้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทย ทั้งนี้ ผู้เขียนกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของครัวเรือนไทยในแง่มุมของพฤติกรรมการใช้จ่ายในสินค้าเฉพาะบางอย่าง (ซึ่งจะได้นำผลการวิจัยมาเล่าสู่กันฟังให้แฟนคอลัมน์บางขุนพรหมชวนคิดในโอกาสต่อไปแน่นอนครับ) วันนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับฐานข้อมูลดังกล่าวกันก่อน

Townsend Thai Data เป็นฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยพัฒนาการเศรษฐกิจไทยที่รู้จักกันในชื่อว่า “Townsend Thai Project” โดยศาสตราจารย์ Robert M. Townsend ได้ร่วมมือกับคุณ สมบัติ ศกุนตะเสฐียร จัดตั้งศูนย์วิจัยครอบครัวไทย (Thai Family Research Project, TFRP) เพื่อจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนในประเทศไทย เพื่อใช้ในการประเมินบทบาทของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ (informal institutions) เช่น สถาบันครอบครัว ตลอดจนเครือข่ายชุมชน ทำความเข้าใจรากฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งระดับจุลภาคและมหภาคว่ามีความเชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใด รวมทั้งสำรวจภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและชุมชน แล้วนำมาเผยแพร่ข้อมูลที่นักวิชาการและผู้ดำเนินนโยบายสามารถนำไปใช้ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและการตัดสินใจของครัวเรือนอย่างแท้จริง ซึ่งที่สุดแล้วจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเฉพาะการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ “ตรงจุด” และ “ได้ประสิทธิผลจริง”
ฐานข้อมูลครัวเรือนไทยแบบตัวอย่างซ้ำนี้มีการสำรวจข้อมูลมาอย่างยาวนานถึงเกือบ 20 ปี ซึ่งนักสถิติและนักเศรษฐศาสตร์คงทราบกันดีว่าจำเป็นต้องใช้ความอุตสาหะทุ่มเทและงบประมาณสูงเพียงใดในการสำรวจครัวเรือนเดิม ๆ (ตลอดระยะเวลา 20 ปี โครงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายสถาบัน อาทิ National Institute of Child Health and Human Development (NICHD) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ริเริ่มโครงการ และต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมไปถึงชื่อคุ้นหูทุกท่านอย่าง Bill & Melinda Gates Foundation) Townsend Thai Data เริ่มสำรวจข้อมูลครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 ยาวนานมาจนถึงปี 2560 เริ่มแรกดำเนินการใน 4 จังหวัดใน 2 ภูมิภาค คือ ฉะเชิงเทราและลพบุรีในภาคกลาง บุรีรัมย์และศรีสะเกษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นขยายการเก็บข้อมูลเรื่อยมาจนมีขอบข่าย 6 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค กล่าวคือ เพิ่มพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูลและยะลาในปี 2546 และเพิ่มพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่และเพชรบูรณ์ในปี 2547 ทั้งนี้ โครงการได้เลือกจังหวัดที่มีอย่างน้อยหนึ่งอำเภอรวมอยู่ในการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey หรือ SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกปี เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผลการวิจัยของโครงการกับข้อมูลที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ จากนั้นโครงการได้เลือก 12 ตำบลจากแต่ละจังหวัดโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (stratified sampling) โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและ Geographic Information System (GIS) และในขั้นตอนสุดท้าย โครงการจะเลือกหมู่บ้านและครัวเรือน โดยการเก็บตัวอย่างแบบสุ่ม (random sampling) แล้วเก็บข้อมูลจากครัวเรือนเดิมในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 15 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 960 ครัวเรือน

Townsend Thai Project ยังดำเนินการสำรวจข้อมูลในเขตพื้นที่เมืองของทั้ง 6 จังหวัดข้างต้น โดยใช้แบบสอบถามชุดเดียวกันกับที่ใช้สำรวจในเขตพื้นที่ชนบท เพื่อจะนำเอาข้อมูลจากทั้งสองพื้นที่มาเปรียบเทียบกันว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในปี 2548 นอกจากนี้ โครงการได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึก โดยการสัมภาษณ์ครัวเรือนแบบรายเดือนใน 16 หมู่บ้านของ 4 จังหวัดที่มีการเก็บข้อมูลแบบรายปีหมู่บ้านละ 45 ครัวเรือน โดยการเก็บข้อมูล Baseline ของ Monthly Survey นี้ เริ่มเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2541 และ Monthly Resurvey ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 ต่อเนื่องมา เนื่องจากเล็งเห็นข้อจำกัดที่ว่า การสำรวจข้อมูลรายปีนั้นทำในพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้าง มีผลทำให้แบบสอบถามเดิมไม่สามารถให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกรรม และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องระหว่างบุคคล ครัวเรือน และสถาบันได้
ที่ผ่านมา นักวิจัยหลายท่านทั้งในไทยและต่างประเทศได้ใช้ข้อมูลจาก Townsend Thai Project ทำการศึกษาพฤติกรรมครัวเรือน เศรษฐกิจหมู่บ้าน และผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในแง่ของงานวิจัยด้านการวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนและเศรษฐกิจหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการกระจายและประกันความเสี่ยง (เช่น ผลของโครงข่ายทางครอบครัวและการเงิน (kinship and financial networks) ต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลดความเสี่ยงของครัวเรือน) สินเชื่อและสถาบันการเงิน (เช่น ผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อพฤติกรรมของครัวเรือน) การเปิดเสรีทางการเงิน (เช่น ผลของการเปิดเสรีทางการเงินต่อข้อจำกัดในการเลือกอาชีพของครัวเรือน) สุขภาพครัวเรือนและการสาธารณสุข (เช่น ผลของนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อการใช้บริการทางสาธารณสุขของครัวเรือน และต่ออัตราการตายของทารก) ไปจนถึงนิเวศน์วิทยา (เช่น การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตข้าวในประเทศไทย)

หากท่านผู้อ่านสนใจต้องการใช้ข้อมูลเพื่อทำการวิจัยไม่ว่าจะด้านใด สามารถติดต่อได้ที่สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) แห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย http://riped.utcc.ac.th/fedr หรือส่งอีเมล์ไปที่ data@riped.utcc.ac.th ได้เลยครับ!


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>