นายวัชรกูร จิวากานนท์
การใช้บัตรไม่ว่าจะเป็นบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต บัตรเครดิต ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก จนแทบจะกลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคนในยุคนี้ เพราะสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องพกพาเงินสด แต่เชื่อเหลือเกินครับว่าในใจลึก ๆ แล้ว หลายคนคงยังมีความคลางแคลงใจ ไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการฉ้อฉลเกิดขึ้น อย่างข่าวครึกโครมล่าสุดในการขโมยข้อมูลบนบัตรเอทีเอ็ม ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นหายหดหมดสิ้นไปอีกมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้เองยังไม่รู้จักบัตรที่อยู่ในมือคุณดีพอ
บัตรแต่ละใบจะมีที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของบัตร ซึ่งเป็นที่ต้องการของเหล่ามิจฉาชีพ ดังนั้นแล้วการมีที่เก็บข้อมูลที่ปลอดภัย ก็เหมือนกับการมีตู้เซฟดี ๆ ที่จะรักษาของมีค่าของคุณเอาไว้นั่นเองครับ โจรที่คิดจะเข้ามาลัก เข้ามาขโมยก็คงต้องออกแรงเหนื่อยกันหน่อย โดยที่เก็บข้อมูลของบัตร บ้างก็อยู่ในรูปแบบของแถบสีดำที่คาดอยู่ด้านหลัง ที่เรียกว่า “แถบแม่เหล็ก” (Magnetic stripe) บ้างก็อยู่ในรูปแบบของแผ่นอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ หรือ “ชิพ” (Chip) บ้างก็มีทั้ง 2 แบบอยู่บนบัตรใบเดียวกัน เข้าทำนองว่ามีตู้เซฟ 2 ใบให้เลือกได้ว่าจะเก็บข้อมูลไว้ที่ไหน
ไม่ได้ เป็นตู้เซฟแบบเดียวกัน แน่นอนว่าระดับความปลอดภัยก็ย่อมแตกต่างกันด้วย โดยบัตรแถบแม่เหล็กเป็นระบบที่มีความปลอดภัยและใช้กันมากในปัจจุบัน แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยมากขึ้น ก็ต้องเป็นระบบชิพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่ามีการป้องกันการคัดลอกข้อมูล มีความปลอดภัยจากการทุจริตบัตรที่มีประสิทธิภาพ แถมยังมีความจุและความสามารถของบัตรที่หลากหลาย ทำให้หลายประเทศเริ่มทะยอยเปลี่ยนไปใช้ระบบชิพกันบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทย ก็คงต้องบอกกันให้อุ่นใจด้วยว่า ไทยเราเองก็มีแผนที่จะเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตไปสู่ระบบชิพในระยะต่อไป ตามบัตรเครดิตที่ใช้ระบบตู้เซฟข้อมูลแบบชิพไปแล้วก่อนหน้านี้
น่ากังวล อยู่เหมือนกันว่า แม้จะมีตู้เซฟเก็บข้อมูลบนบัตรเป็นอย่างดี แต่หากเครื่องที่ใช้กับบัตรอย่างตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องรับบัตรกลับไม่ปลอดภัย การใช้บัตรก็ยังเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้นผู้ให้บริการจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยต้องติดตามพฤติกรรมและพยายามหามาตรการมาป้องกันพวกมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการคัดลอกข้อมูลบัตร (Anti-skimming) ประเภทต่าง ๆ การติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การแสดงหน้าจอเพื่อเตือนผู้ใช้บริการ และการมีฉากป้องกันการลอบมองรหัสรวมไปถึงการเปลี่ยนระบบเพื่อให้ตู้เอทีเอ็มและเครื่องรับบัตรสามารถรองรับบัตรในระบบชิพได้ด้วย
อย่างไรก็ดีครับ เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการใช้บัตรของคุณให้สูงขึ้น ผู้ใช้บัตรเองก็ต้องให้ความใส่ใจและระมัดระวังในการใช้บัตรด้วย เริ่มกันตั้งแต่ การศึกษาเงื่อนไขการใช้บัตรให้ดี เช่น วงเงินจำนวนการใช้ต่อวัน การจำกัดวงเงินการใช้ ซึ่งจะช่วยลดและจำกัดขนาดของความเสี่ยงได้ การตรวจสอบธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการรักษารหัสต่าง ๆ อย่างดี ไม่จดหรือเก็บไว้บนหลังบัตร ไม่ใช้รหัสที่ง่ายต่อการเดา อย่างวันเกิด เลขเรียง เลขซ้ำ และทุกครั้งที่ใช้รหัสต้องมั่นใจว่ามิดชิด ป้องกันการลอบมอง เพราะต้องไม่ลืมว่า รหัสเป็นเหมือนกุญแจที่โจรใช้ไขตู้เซฟข้อมูล ถ้าไม่รู้รหัสซะอย่าง โจรก็ทำอะไรเราได้ยาก!
ที่เล่ามาทั้งหมดคงจะทำให้คุณผู้ใช้บริการมั่นใจได้มากขึ้น... แต่หากคุณโชคไม่ดีเอาซะเลย ยังถูกเจ้าโจรมืออาชีพสร้างความเสียหายได้ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ กลัวการใช้บัตรนะครับ เพราะผู้ให้บริการของไทยได้กำหนดแนวทางอีกหลายด้านตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ภายใต้การดูแลของหนึ่งในหน่วยงานหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีแนวทางที่สำคัญเช่น การกำหนดความรับผิดชอบ ซึ่งระบุว่าหากความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตร ผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด รวมถึงการกำหนดระยะเวลาในการจัดการข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการให้เหมาะสม โดยทั้งหมดนี้ผู้ใช้บริการสามารถศึกษาได้จากคู่มือ เงื่อนไขในการใช้บริการ หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ได้
คิดกันดูดี ๆ แล้ว คงจะเห็นพ้องต้องกันนะครับว่า การใช้บัตรไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด เพราะเรื่องของความปลอดภัยในการใช้บัตรนั้นมีการป้องกันจากหลายมิติ ทั้งจากตัวบัตร ตัวเครื่อง ตัวผู้ให้บริการ และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวคุณเองครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย