ตั้งแต่ต้นปีนี้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นเร็วมาก จนคนเริ่มพูดกันเยอะว่า “เงินเฟ้อสูง” แค่ชั่วคราวหรือถาวร แต่ไม่ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเพราะอะไร เชื่อว่าผู้อ่านคงเจอผลกระทบเงินเฟ้อโลกสูงผ่านมาทางราคาน้ำมันและค่าขนส่งกันไปบ้างแล้ว และคงสงสัยว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นบ่อย ๆ ไปอีกนานแค่ไหน เงินเฟ้อไทยจะสูงตามเงินเฟ้อโลกหรือไม่ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้ขอสรุปให้เห็นที่มาที่ไปของสถานการณ์เงินเฟ้อโลกสูง และแชร์มุมมองว่าต้องกลัวอะไรในภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นนี้กันค่ะ

World map with graph in futuristic concept suitable for financial investment or Economic trends business idea and all art work design. Abstract finance background


1. เหตุใดเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นเร็วมาก?

ปกติแล้วเงินเฟ้อสูงจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1) ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (demand-pull inflation) แต่ผลิตได้ไม่พอรองรับ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น หรือ 2) ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (cost-push inflation) ผู้ผลิตจึงปรับราคาสูงขึ้น

สาเหตุที่เงินเฟ้อโลกสูงในช่วงปีนี้เห็นได้ชัดว่ามาจากทั้ง 2 สาเหตุ อย่างแรกคือ ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว แต่สินค้าและบริการผลิตมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายที่อัดอั้นมานาน (revenge spending) จากช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะคนที่มีเงินออมสะสมไว้เยอะในช่วงโควิด อีกสาเหตุคือ ต้นทุนการผลิตแพงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง เพราะการผลิตหยุดชะงักหรือชะลอลงไปในช่วงโควิดระบาดรุนแรง ฟากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเจ้าใหญ่ในโลกก็รวมตัวกันจำกัดปริมาณการผลิตไว้ ราคาน้ำมันดิบจึงเปลี่ยนจาก record low ในช่วงปี 2020 ที่ล็อกดาวน์เข้มมาทำ record high หลังประเทศต่าง ๆ ทยอยเปิดเมือง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นยังมาจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (supply chain disruption) โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ความต้องการเยอะขึ้นมากในช่วง work from home



นอกจากสาเหตุคลาสสิคของเงินเฟ้อสูง 2 ข้อที่กล่าวมา ทั่วโลกเริ่มพูดถึง “เงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม” (greenflation) ที่อาจซ้ำเติมปัญหาราคาพลังงานโลกสูง เพราะหลายประเทศตื่นตัวมากขึ้นในการปรับโครงสร้างพลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลมีนโยบายให้ภาคธุรกิจลดเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าและส่งเสริมให้ใช้พลังงานสะอาด ลดการอุดหนุนการใช้พลังงานถ่านหิน จัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด หรือมีบทลงโทษธุรกิจที่ไม่ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ธุรกิจหันมาลงทุนเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาเพื่อปรับรูปแบบสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) ต่างๆ เช่นนี้ อาจส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ในที่สุด

Energy transition อาจเป็นปัจจัยกระทบเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ขึ้นกับนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero initiatives) ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตกลงร่วมกันจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เพื่อลดผลกระทบโลกร้อน และลด/เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล



2. เงินเฟ้อโลกสูงนาน ต้องกลัวอะไร?

กลุ่มที่มองว่าเงินเฟ้อโลกสูงจะเกิดขึ้นชั่วคราว มองโลกแง่ดีว่าปัจจัยที่กล่าวมาจะคลี่คลายได้ในปีหน้า เพราะเชื่อว่ากำลังซื้อและกำลังการผลิตจะกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด จึงประเมินว่าเงินเฟ้อโลกจะลดลงมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤตโควิดได้ภายในกลางปีหน้า

แต่ก็มีกลุ่มที่มองว่าเงินเฟ้อสูงชั่วคราวที่เห็นอาจกลายเป็นเรื่องถาวรได้ ถ้าปัจจัยที่กล่าวมาไม่ได้คลี่คลายเร็วอย่างที่คิด หากเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางดูแลเป็นเวลานาน สิ่งที่ต้องกลัว คือ เมื่อผู้คนเริ่มปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อว่าจะอยู่ในระดับสูง และปรับพฤติกรรมไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง (self-fulfilling inflation spiral) เช่น ผู้บริโภคเร่งใช้จ่ายกลัวเงินเฟ้อสูง ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าในวงกว้าง และแรงงานเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะในบางประเทศที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงมาก จะยิ่งเห็นเงินเฟ้อในหมวดที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมาก หรือประเทศที่ค่าเงินอ่อนมาก จะยิ่งเห็นเงินเฟ้อในหมวดอาหารสูงขึ้นมากผ่านการนำเข้าที่แพงขึ้น

ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ หลังเห็นสัญญาณเงินเฟ้อคาดการณ์ของครัวเรือนและธุรกิจสูงขึ้นมากเกินกรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้วางใจ และเร่งเข้าดูแลให้คนเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ ขณะที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วเห็นว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงยังไม่รีบปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลงเร็วไปในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

สำหรับไทย แม้ตอนนี้แบงก์ชาติมองว่าผลกระทบเงินเฟ้อโลกสูงมายังเงินเฟ้อไทยมีไม่มาก เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ ธุรกิจยังไม่รีบปรับขึ้นราคา นอกจากนี้ การส่งผ่านราคาพลังงานโลกมาเงินเฟ้อในประเทศก็มีผลจำกัด เพราะตะกร้าเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (first-round effects) ไม่มาก ผลกระทบราคาพลังงานโลกส่วนใหญ่จะผ่านมาทางราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งก็มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกบางรายการ เช่น น้ำมันดีเซล แก๊สหุงต้ม จึงยังไม่เห็นการส่งผ่านเงินเฟ้อโลกสูงไปยังเงินเฟ้อหมวดต่าง ๆ รวมถึงการปรับขขึ้นค่าจ้างเป็นวงกว้าง (second-round effects)

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ไม่อาจวางใจกับผลกระทบเงินเฟ้อโลกสูงได้เสียทีเดียว หากตัวช่วยที่กล่าวมาหายไป เช่น กำลังซื้อประชาชนฟื้นกลับมาเต็มที่ ผู้ผลิตอั้นการปรับราคาขึ้นได้ไม่นาน มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาลสิ้นสุดลง ก็อาจเห็นการส่งผ่านผลของเงินเฟ้อโลกสูงมายังเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นได้ “เงินเฟ้อโลกสูง” จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องจับตา เพราะกระทบความเป็นอยู่ของทุกคน ยิ่งสาเหตุที่เกิดส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศทั้งเรื่องระยะสั้นและเรื่องระยะยาวที่เกินจะควบคุมด้วยแล้ว ภาครัฐยิ่งไม่ควรชะล่าใจ และเตรียมตัวตั้งรับให้ดีค่ะ


ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย