นางสาวเบญญาภรณ์ จันทนา
นางสาวนภาวรรณ รัตนสุวงศ์ชัย
ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี ทุกคนคงตระหนักดีว่ามีการนาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่อง ATM ซึ่งได้สร้างความสะดวกและคุ้นเคยให้กับเราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้เรามักได้ยินคำศัพท์ใหม่อยู่บ่อยๆ เช่น “FinTech” (Financial Technology) “InsurTech” (Insurance Technology) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางในการให้บริการทางการเงินในหลายรูปแบบและมิติ ทั้งด้านโอนเงิน ทำบัญชี ด้านการให้กู้ยืม การลงทุน ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการด้านการเงินได้ง่ายขึ้น ในวันนี้ จึงขอเล่าถึงคำศัพท์อีกหนึ่งคำที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คือ “RegTech” (Regulation Technology) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน โดยในโลกปัจจุบันองค์กรภาครัฐต่างๆ ได้มีการทยอยออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทำธุรกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย จึงมีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องลงทะเบียนและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมและความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งจัดส่งข้อมูลเพื่อประมวลผลติดตามวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจมีต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกที่จะเห็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็ว ระบบการจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
คำว่า RegTech จะมาควบคู่กับ Startup ซึ่งคือธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่โดยกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบและประยุกต์ให้กระบวนการทำงานต่างๆ สัมฤทธิ์ผล โดยสามารถมีมุมมองได้ 2 ด้าน คือ ช่วยตอบสนองให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการสามารถปฏิบัติได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น ในต่างประเทศมีการกำหนดให้การเปิดบัญชีของธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า ที่เรียกกันว่าทากระบวนการ Know your customer (KYC) จึงมีกลุ่ม Startup บางแห่งคิดค้นพัฒนาระบบ Digital Verification ที่สามารถยืนยันตัวบุคคล โดยใช้การตรวจสอบตัวตนทางกายภาพ (Biometric) และรวบรวมข้อมูลเครดิต การใช้โทรศัพท์ หรือข้อมูลจาก Social Media ไว้ในที่เดียวกัน ทำให้กระบวนการ KYC สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ง่ายยิ่งขึ้น ลดเวลาทั้งของลูกค้าและของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีระบบที่สามารถตรวจพบและรายงานว่าได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการครบถ้วนหรือไม่ Startup บางกลุ่ม ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลกับผู้ประกอบธุรกิจหรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านระบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-learning ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ผู้กำกับดูแลสามารถสื่อสาร อธิบายหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น สะดวกต่อการค้นหาตลอดเวลาในทุกสถานที่ที่ต้องการ (Anywhere Anytime)
RegTech มีหลักการที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ (1) ความคล่องตัว (Agility) เนื่องจาก RegTech จะเข้ามาประมวลผลข้อมูลที่ยุ่งเหยิงอยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้เป็นระบบมากขึ้น (2) ความรวดเร็ว (Speed) โดย RegTech จะเข้ามาช่วยจัดทำรายงานนาเสนอให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อผู้ใช้งานอย่างอัตโนมัติและรวดเร็ว (3) การรวบรวมข้อมูล (Integration) คือ การที่ RegTech เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลให้อยู่ในกรอบที่วางไว้เพื่อย่นระยะเวลาในการแก้ปัญหา และสามารถทำให้ข้อมูลมีความต่อเนื่องกัน (4) การวิเคราะห์ (Analytics) เป็นการนำ RegTech เข้ามาเป็นเครื่องมือการวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดแม่นยำ ด้วยการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนมาก (Big Data) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานได้หลายๆ วัตถุประสงค์
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงควรที่จะเรียนรู้ และติดตามพัฒนาการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และปลอดภัย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย