​ภัยแล้งในสหรัฐฯ กับราคาสินค้าเกษตรของไทย

นางสาวพรนภา ลีลาพรชัย

สถานการณ์ภัยแล้งในตอนกลางของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมานับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายรุนแรงต่อผลผลิตเกษตรในสหรัฐฯ อย่างมาก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ล่าสุดกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดว่า ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองจะลดลงถึง12-13% จากปีก่อน และยังมีแนวโน้มลดลงอีก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลกแม้ว่าจะรวมผลผลิตจากบราซิลและอาร์เจนตินาที่เป็นผู้ผลิตลำดับรองลงมาก็ไม่สามารถจะชดเชยผลผลิตของสหรัฐฯ ที่ลดลงได้ ทำให้ในขณะนี้ราคาข้าวโพดในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นกว่า 40% และถั่วเหลืองสูงขึ้น 25% จากต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คำถามที่สำคัญคือ สถานการณ์เช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยอย่างไร

ภัยแล้งในสหรัฐฯ ได้ส่งผ่านผลกระทบมาที่ราคาสินค้าเกษตรในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ซึ่งขณะนี้ราคาได้เร่งสูงขึ้นแล้ว จากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ใน 5 เดือนแรกเฉลี่ยไม่ถึง 9 บาท/กิโลกรัม ขยับขึ้นเป็นประมาณ 10 บาท/กิโลกรัม ในต้นเดือนสิงหาคม สำหรับถั่วเหลืองยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจน เพราะไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการใช้ในประเทศ จึงเห็นการเร่งตัวของราคากากถั่วเหลืองนำเข้าจากเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ 15-17 บาท/กิโลกรัม ขยับขึ้นเป็น 21-22 บาท/กิโลกรัมในต้นเดือนสิงหาคม

ผลกระทบคงไม่มีเพียงแค่นี้ เพราะเมื่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้นก็จะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าเกษตรในกลุ่มปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะไก่เนื้ออาจได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากใช้ข้าวโพดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสัดส่วนที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ขณะนี้ราคาปศุสัตว์ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นในทันที เพราะปีนี้มีผลผลิตปศุสัตว์ออกสู่ตลาดมาก และผู้เลี้ยงปศุสัตว์เร่งนำผลผลิตออกขายในตลาดก่อนเพื่อลดภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่หากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบที่สูงยังคงดำเนินต่อไปก็คาดว่าราคาปศุสัตว์จะปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลกระทบทางตรงจากภัยแล้งในสหรัฐฯ แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังราคาในกลุ่มพืชพลังงาน ทั้งมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะมันสำปะหลังสามารถใช้ทดแทนข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์และในอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนปาล์มน้ำมันก็สามารถใช้ผลิตน้ำมันทดแทนถั่วเหลืองที่มีราคาสูงขึ้น และในตลาดโลกก็มีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันอยู่ในระดับสูง แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบทั้งต่อราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันในประเทศอย่างชัดเจน เหตุผลที่สำคัญคงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เร่งตัวและส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยดังเช่นในครั้งนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นครั้งแรก มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าภัยแล้งครั้งนี้จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตอาหารโลกครั้งใหม่หรือไม่ จริงๆ แล้วแม้ยังไม่มีนิยามสากลของคำว่าวิกฤตอาหารโลกอย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมาเคยมีสถานการณ์ที่เรียกกันว่าเป็นวิกฤตอาหารโลกเกิดขึ้นในปี 2551 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดภาวะที่ราคาธัญญาหารหลายชนิดทั่วโลกปรับสูงขึ้นทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง รวมถึงพืชน้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน ก็มีราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงจากความต้องการใช้พลังงานของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว หากเทียบกับภัยแล้งในสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเห็นว่า ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองเร่งสูงขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2551 แล้ว แต่การส่งผ่านของผลกระทบไปยังราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ อาจไม่แรงเท่าเนื่องจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ในภาวะชะลอตัว

ถ้าจะถามว่า ประเทศไทยคงพอรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ได้หรือไม่ สถานการณ์ครั้งนี้น่าวิตกกังวลขนาดไหน? ในขณะนี้ก็คงจะพอประเมินได้ว่า หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อความเสียหายของผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองไม่ยาวนานเกินกว่าหนึ่งฤดูกาลเพาะปลูก ผลกระทบก็จะจำกัดอยู่เพียงแค่ในระยะสั้นราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็น่าจะทรงตัวในระดับสูงแค่ชั่วคราว และกลับสู่ระดับปกติได้ไม่เกินกลางปีหน้าซึ่งในส่วนของไทยนั้น ภาครัฐอาจใช้มาตรการต่างๆ ในการบรรเทาหรือชะลอเวลาที่ผลกระทบจากจะเกิดขึ้นได้

สุดท้ายนี้ หากจะมองไปในอนาคตข้างหน้า เราควรจะเตรียมรับมือกับเกิดสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร เพราะนับวันสภาพอากาศโลกที่นับวันจะยิ่งทวีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันในระดับสูง ในขณะที่ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าโภคภัณฑ์จากต่างประเทศมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างความอ่อนไหวต่อราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมากเท่านั้น ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเองก็อาศัยการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเกือบ 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศทั้งหมด ดังนั้น ไทยเองคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับปัญหาขาดแคลนอุปทาน หรือ supply shock ในตลาดโลกได้ระดับหนึ่งด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย