เราจะพลิกฟื้นตลาดแรงงานไทยได้อย่างไร? เป็นคำถามสำคัญที่จะขอเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกันต่อหลังจากได้แยกแยะจุดแข็งจุดอ่อนของตลาดแรงงานไทยในกรอบ SWOT Analysis เรียงลำดับย้อนทวนตามหลัก TOWS Matrix ที่อาจารย์ Michael D. Watkins เสนอให้ประยุกต์ใช้ในการวางกลยุทธ์โดยอ้างอิงบทความคลาสสิคของอาจารย์ Heinz Weihrich เริ่มจากการประเมินสถานการณ์ภายนอก คือ Threat ความท้าทายสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในด้านความรุนแรงและระยะเวลา และ Opportunity โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติของการเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การยกมาตรฐานใหม่ของการผลิตและการบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว และกระแส การจับจ่ายใช้สอยที่จะเร่งตัวอีกครั้งหลังวิกฤตจบลง
สำหรับปัจจัยภายในของตลาดแรงงานไทยนั้น บทเรียนในอดีตได้แสดงให้เห็นถึง Weakness จุดอ่อนจากการที่ทักษะของแรงงานไทยถูกกำหนดจากด้านอุปทาน หรือ Supply-push เนื่องจากตลาดแรงงานไทยมีความตึงตัวต่อเนื่องยาวนานทำให้แรงงานสามารถหางานได้ง่ายทั้งในและนอกระบบจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะเท่าที่ควร ตามที่เสนอในงานศึกษาเรื่อง หนทางสู่การแก้ปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาด ร่วมกับ ผศ.ดร. อภิรดี วงศ์กิจรุ่งเรือง ขณะที่ Strength จุดแข็ง คือ ตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูง ตามการจ้างงานที่มีลักษณะ Demand-driven คนไทยจึงเคลื่อนย้ายงานได้ง่ายตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจจากการผลิตเพื่อส่งออกสู่การบริการรองรับการท่องเที่ยว
กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทยจากการประมวลปัจจัยภายนอกและภายในจึงจำแนกออกเป็น 4 ข้อ คือ
รับมือความท้าทายโดยเฉพาะในด้านจุดอ่อน (WT: Weakness-Threat) ผ่านการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ว่างงานหรือแรงงานนอกระบบ โดยเยียวยาทั้งผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระ จ้างงานชั่วคราวภาครัฐ และเอื้อให้เกิดการจับคู่งานจากภาคเอกชน
ปรับตัวแก้จุดอ่อนโดยอาศัยโอกาสที่เกิดขึ้น (WO: Weakness-Opportunity) โดยเปิดโอกาสให้แรงงานใช้ประโยชน์จากช่องทางเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ารับการพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้นทั้งจากผู้ให้บริการพัฒนาทักษะภาครัฐและเอกชนโดยตรง หรือผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาทักษะ แรงงาน การศึกษา และธุรกิจ (รายละเอียดในบทความที่เขียนร่วมกับ คุณพรชนก เทพขาม เรื่อง E-Workforce Ecosystem กับการแก้ปัญหาในตลาดแรงงาน)
ป้องกันผลกระทบจากความท้าทายด้วยการใช้จุดแข็ง (ST: Strength-Threat) ใช้ความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานไทยเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการจัดสรรแรงงานโดยมีภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งเป็นผู้นำในการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่มีการขยายตัวดี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากความตึงตัวของตลาดแรงงาน แต่จะช่วยให้แรงงานรับทราบถึงทักษะที่ตลาดต้องการและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
เร่งรุกใช้จุดแข็งขยายผลบวกจากโอกาสให้เต็มที่ (SO: Strength-Opportunity) เอื้อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าอย่างเข้มแข็งภายใต้บริบทใหม่ทางเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการค้าการลงทุน โดยปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งการยกเลิกกฎระเบียบล้าสมัย และการยกระดับบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่การเติบโตของกิจกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่จะกระตุ้นแรงงานให้ยกระดับ/ปรับทักษะ (Upskill/Reskill) เข้าทำงานคุณภาพสูงและช่วยพลิกฟื้นตลาดแรงงานไทยให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย