นางถนอมจิตร สิริภคพร
ปี 2556 ที่ผ่านมา ไทยซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและผู้ส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2534 ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตโรคตายด่วน (EMS : Early Mortality Syndrome) ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 260,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนที่ 472,881 ตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 45 ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2556 ที่มีจำนวนเพียง 187,330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 60,086 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 39.3 และ 28.9 ตามลำดับ ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้นำการส่งออกกุ้งในตลาดหลักสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้กับอินเดียเป็นครั้งแรก
โรคตายด่วนพบครั้งแรกในจีนตั้งแต่ปี 2552 และระบาดสู่เวียดนามในปี 2553 หลังจากนั้นได้ระบาดเข้าสู่มาเลเซีย และภาคตะวันออกของไทยแถบจังหวัดจันทบุรีและระยองในปี 2554 กระ ทั่งปลายปี 2555 เริ่มระบาดไปทั่วประเทศ และสร้างความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนกุ้งอย่างหนัก ขณะที่ราคากุ้งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากราคาเฉลี่ยกุ้งขาวขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ปี 2556 อยู่ที่กิโลกรัมละ 208.65 บาท เพิ่มจาก 128.86 บาทในปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.9
ผลจากการขาดแคลนกุ้งนำมาซึ่งการปรับตัวของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เริ่มตั้งแต่การปรับลดกำลังการผลิต การนำเข้าวัตถุดิบ การหันไปใช้อาหารทะเลอื่นเป็นวัตถุดิบแทน และการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ อาทิ อินเดีย รวมทั้งการเปลี่ยนไปผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง ทำตลาดโดยไม่เน้นปริมาณเพื่อเจาะตลาด Premium ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกกุ้งแปรรูปของไทยในปี 2556 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 50.4 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 44.3 ในปี 2555
สำหรับตลาดหลักสำคัญที่ไทยมีการส่งออกกุ้งลดลงมากในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยลดลงร้อยละ 39.5 28.3 และ 44.0 ตามลำดับ สาเหตุจากปัญหาขาดแคลนกุ้งเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตอบสนองต่อราคากุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในแต่ละตลาด โดยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยราคามากกว่าคุณภาพสินค้า จึงทำให้การส่งออกลดลงมากกว่าตลาดญี่ปุ่นซึ่งเน้นคุณภาพมากกว่าราคา ส่วนตลาดยุโรปแม้จะเน้นคุณภาพแต่เนื่องจากมีปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ จึงทำให้การส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวลดลงมากกว่าตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการนำเข้ากุ้งในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยเราครองความเป็นผู้นำอย่างโดดเด่นมาอย่างยาวนาน พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2556 อินเดียสามารถครองส่วนแบ่งตลาดกุ้งในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 18.7 แทนที่ไทยได้เป็นครั้งแรก ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 16.4 ตกลงมาเป็นอันดับสอง ตามด้วยอันดับสามคือ อินโดนีเซียที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.0 ตามลำดับ
จากการที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาโรคตายด่วน เช่น การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ และการเน้นวิธี การเลี้ยงโดยการอนุบาลให้ลูกกุ้งแข็งแรงจะทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลผลิตจากการเลี้ยงในรอบแรกปีนี้ซึ่งจะออกในช่วงพฤษภาคม - มิถุนายนได้ผลดี คาดว่าผลผลิตกุ้งจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป และประเด็นเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขเพื่อมิให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่ออุตสาหกรรมกุ้งโดยรวม |
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย