​มุ่งสู่เศรษฐกิจไร้เงินสด: พฤติกรรมผู้บริโภคและโอกาสของธุรกิจไทยช่วงโควิด 19

นายทศพล ต้องหุ้ย นายธนพล กองพาลี ฝ่ายนโยบายการเงิน นางสาวอณิยา ฉิมน้อย ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน



การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าและชำระเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นผลพวงของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนเลี่ยงการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย บทความนี้ต้องการชวนผู้อ่านวิเคราะห์เทรนด์เศรษฐกิจไร้เงินสดของไทย พฤติกรรมการชำระเงิน รวมถึงการมองธุรกิจผ่านข้อมูลการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์ (e-Payment) ในช่วงโควิด 19


ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจลดเงินสด

งานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาได้ส่องดูพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย พบว่า แม้คนไทยยังนิยมใช้เงินสด แต่การใช้ e-Payment ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จากรูปที่ 1 พบว่าปริมาณการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 49 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2559 เป็น 151 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563 (ข้อมูล เม.ย. 63) สอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะโครงการพร้อมเพย์ในปี 2560 ที่ช่วยทำให้ต้นทุนการโอน e-Payment ถูกลง ขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สามารถต่อยอดบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ อาทิ การโอนเงินภาครัฐ การโอนเงินรายย่อยและธุรกิจ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) รวมถึง QR Payment ที่ปัจจุบันมีจุดบริการกว่า 6 ล้านจุดทั่วประเทศ


รูปที่ 1 สถิติการใช้งาน e-Payment และปริมาณธุรกรรมการชำระเงินรายย่อย


หลายท่านอาจสงสัยว่าการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นส่งผลอย่างไรต่อการใช้เงินสดของคนไทย ผลสำรวจของ ธปท. พบว่าการใช้ e-Payment ของคนไทยทั่วประเทศ ปี 2560 ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานบางสาขาอาชีพ ขณะเดียวกันบทบาทของเงินสดเองก็มีมากกว่าการเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เช่น การเก็บเงินสดไว้สำรองใช้ยามฉุกเฉิน


โควิด 19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคเลี่ยงการใช้เงินสด


"โควิด 19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลในการสัมผัสเงินสด"


แม้การใช้ e-Payment ของคนไทยยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด 19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลในการสัมผัสเงินสด เทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลกสะท้อนจากสถิติการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินสดและโควิด” ซึ่งผู้เขียนจัดทำขึ้นโดยอ้างอิงงานศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า การค้นหาเพิ่มสูงขึ้นในเดือน มี.ค. - เม.ย. 63 เพราะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด และที่น่าสนใจคือ สถิติการค้นหาสอดคล้องไปกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ซึ่งจากรูปที่ 2 พบว่าเกาหลีใต้มีสถิติสูงครั้งแรกตั้งแต่ปลาย ม.ค. 63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด และสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ค. 63 ซึ่งมีการระบาดรอบสอง ขณะที่สิงคโปร์ ไทย และทั่วโลก มีสถิติคำค้นที่เพิ่มขึ้นไล่เรียงกันมาเป็นลำดับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63


รูปที่ 2 สถิติการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินสดและโควิด”


นอกจากนั้น งานวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIAID) ชี้ว่าไวรัสสามารถดำรงอยู่บนพื้นผิวสัมผัสได้นานหลายชั่วโมง ธนาคารกลางหลายประเทศรวมถึง ธปท. จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อผ่านธนบัตร โดยกำหนดให้แยกเก็บธนบัตรที่รับกลับมาจากธนาคารพาณิชย์เป็นเวลา 14 วัน ก่อนให้ธนาคารพาณิชย์เบิกออกไปหมุนเวียนสู่ประชาชนอีกครั้ง ซึ่งช่วยให้มีธนบัตรปลอดเชื้อเข้าสู่ระบบ และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อผ่านการสัมผัสธนบัตรได้ในระดับหนึ่ง


โอกาสของธุรกิจไทยในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

การใช้ e-Payment ของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ จากธุรกรรมอินเตอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่า 72% ขณะที่มีการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สูงสุดถึง 16.3 ล้านรายการต่อวัน (เม.ย. 63) และคาดว่าในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากความคุ้นชินในการใช้ e-Payment ภายใต้บริบทใหม่

จะเห็นได้จากรูปที่ 3 ว่า มาตรการล็อกดาวน์ทำให้หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ สะท้อนจากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง แต่ธุรกิจบางประเภทยังขยายตัวได้ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต สุขภาพและความงาม การตลาดทางตรง เรายังเห็นธุรกิจดาวรุ่งด้านขนส่งสินค้าที่เติบโตเร็วสอดรับไปกับการใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจเพราะมีส่วนช่วยรองรับแรงงานที่ตกงานได้บางส่วน นับว่าเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะการขายออนไลน์เป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มาแรงและน่าจะยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง ประกอบกับสามารถปรับใช้ได้ด้วยต้นทุนต่ำ


รูปที่ 3 อัตราการขยายตัวธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์


สุดท้ายนี้ การปรับตัวของร้านค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับ e-Payment ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น โดย ธปท. และสถาบันการเงินไทยพร้อมสนับสนุนและพัฒนาระบบชำระเงินให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต


เอกสารอ้างอิง- Auer R., G. Cornelli and J. Frost (2020), “Covid-19, cash, and the future of payments”, BIS Bulletin No.3, Bank for International Settlements, 3 April.- Bech M., U. Faruqui, F. Ougaard and C. Picillo (2018), “Payments are a-changin’ but cash still rules”, BIS Quarterly Review, Bank for International Settlements, March.
- Chucherd T., B. Jindarak, N. Piyakarnchana, T. Tosborvorn, S. Suwanik, A. Srisongkram, T. Tonghui, T. Kongphalee and A. Shimnoi (2019), “Digitalization on Financial Services and Implications for Monetary Policy in Thailand, Thematic Studies Policy Paper, Bank of Thailand.- Lamsam A., J. Pinthong, N. C. Rittinon, A. Shimnoi and P. Trakiatikul (2018), "The Journey to Less-Cash Society: Thailand's Payment System at a Crossroads", PIER Discussion Papers 101, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.- N van Doremalen, et al. (2020), “Aerosol and surface stability of HCoV-19 (SARS-CoV-2) compared to SARS-CoV-1”, The New England Journal of Medicine.- ชาครีย์ อักษรถึง (2563), “Covid 19 – สึนามิของโลกการชำระเงิน”, บทความสั้น ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย.- ธนพล กองพาลี (2563), “สังคมไทย (กำลัง) ไร้เงินสด?”, บทความวิจัยขนาดสั้น (Focus and Quick: FAQ) ฉบับที่ 169, ธนาคารแห่งประเทศไทย.

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>