​SMEs ไทยจะพลิกฟื้นโตยั่งยืนอย่างไรภายใต้ภูมิทัศน์โลกใหม่การเงินสีเขียว (ตอนที่2)

"The greatest threat to our planet is the belief that someone else will save it."Robert Swan, British Explorer
Earth crystal glass globe ball and growing tree in human hand, flying yellow butterfly on green sunny background. Saving environment, save clean planet, ecology concept. Card for World Earth Day.


>> อ่านบทความตอนที่ 1 <<


ฉบับนี้จะนำเสนอพัฒนาการของการเงินสีเขียวไทย และประสบการณ์จริงจากธุรกิจ SME ไทยถึงการปรับตัวให้มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวใส่ใจสิ่งแวดล้อม อุปสรรคและความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริม SME ไทยให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับประสบความสำเร็จในผลประกอบการด้วย


ภาพรวมธุรกิจและการเงินสีเขียวเพิ่งออกสตาร์ท แต่มีเทรนด์เติบโต




ข้อมูลช่วง 10 ปี ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าชี้ว่า จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียว[1] มีสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% ของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด (ซึ่งไม่นับรวมธุรกิจโรงไฟฟ้า) มีจำนวน 12,322 บริษัท ในปี 2560 (เพิ่มขึ้นจาก 9,632 บริษัท ในปี 2550) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เช่น ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจรับติดตั้งฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

พิจารณาด้านสินเชื่อสีเขียว พบว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ค่อยๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ไต่ระดับมาอยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (พลังน้ำ ลม ชีวภาพ ชีวมวล) จำนวน 2.8 แสนล้านบาท (หรือ 2% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ ไตรมาส 3 ปี 2560) และปี 2564 ไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 844 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 357 แห่งในปี 2556

เฉพาะสินเชื่อสีเขียวที่ไม่นับรวมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จาก 62,000 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 2563 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการของไทยเริ่มปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัวและสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานในการผลิต[2] อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานคำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง ตลอดจนยังไม่มีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจสีเขียว[3]


ประสบการณ์จริงของ SME ไทย: ปรับตัวให้รอดสู่เส้นทาง Green Recovery

SME ที่จัดอยู่กลุ่มธุรกิจสีเขียว เช่น ธุรกิจผลิตอาหาร ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเกษตร และธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านพลังงานทดแทน และโรงแรม เกือบทุกธุรกิจ SME ที่ ธปท. ได้สัมภาษณ์ ให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการผลิตในระยะยาว (Cost reduction) มากกว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและบริการต่างหันมาลงทุนการผลิตไฟฟ้าผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ 8-9%

หากวิเคราะห์โดยใช้กรอบการศึกษาของ OECD [4] ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลประกอบการของ SME ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พบว่าธุรกิจ SME ปรับตัวดังนี้

1) ด้านการตลาด (Market Condition) ผู้ประกอบการ SME ได้ปรับตัวผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าและเทรนด์การตลาด (Demand driven) พยายามต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการด้วยงานวิจัย และการทำการตลาดและสร้างแบรนด์ของตนเอง เน้นผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มรักสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ลดการใช้สารเคมี หรือธุรกิจโรงแรมเชิงอนุรักษ์ที่เน้นลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเฉพาะ

2) ด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ (Access to Knowledge and Skill) ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นแม้อยู่ในภูมิภาค แต่ยังมีข้อจำกัดในการ scale up งานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ธุรกิจ SME ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะหลายอย่าง มีทัศนคติที่ดี และสนใจการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

3) ปัจจัยด้านสถาบันและกรอบกฎเกณฑ์ (Institutional and Regulatory Framework) ผู้ประกอบการ SME เห็นว่าควรกำหนดกิจกรรมสีเขียวให้ชัดเจน และเชื่อมโยงให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการรับรองมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและสากล เช่น การผลิตตามมาตรฐาน ISO14000 และสินค้าฉลากเขียว (Green Label)

4) ด้านการเงิน (Access to Finance) ผู้ประกอบการ SME เห็นว่า ควรให้สินเชื่อสีเขียวเชื่อมโยงกับมาตรฐานการผลิตหรือมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์สีเขียว และควรมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ SME ให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการส่งเสริมด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนที่เหมาะสม



ข้อจำกัดที่ SME ต้องเผชิญ และแนวทางสนับสนุนจากภาครัฐ

ถอดบทเรียนจากผู้ประกอบการ SME ต่างพบอุปสรรคและข้อจำกัดที่ไม่ต่างกัน เช่น ต้นทุนการลงทุนเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ต้องใช้เวลา มีค่าเสียโอกาสในช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ยังสูง ต้องทุ่มเทเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามแผนธุรกิจ ทั้งในกรณีของการลงทุนพลังงานไฟฟ้าผลิตด้วยแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือในกรณีเกษตรสีเขียว การปรับเปลี่ยนมาเป็นทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 ปี และต้องดูแลอย่างมาก ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงโควิด-19 และการแข่งขันที่มากขึ้น ธุรกิจ SME จำเป็นต้องเน้นทำกำไรระยะสั้น เน้นปริมาณการผลิตเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเป็นเรื่องรองลงมา

ผู้ประกอบการ SME สะท้อนความต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนี้: 1) เร่งสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ธุรกิจและประชาชนผู้บริโภค ถึงผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน 2) เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทักษะ ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้มีหน่วยงานรองรับ จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งการเตรียมพร้อมทั้งบุคลากรและงานวิจัยให้แก่โครงการส่งเสริมที่ SME สามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง และ (3) ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจ SME ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น การยื่นขอมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ควรบริการแบบ “one stop services” ของภาครัฐ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และลดความซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนด้วยเอกสารกระดาษเพื่อช่วยลดต้นทุนทั้งเงินและเวลา

ในท้ายสุด เป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติว่า การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Development) จะเป็นทางออกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Building Forward Better)[5] ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทั้ง รัฐ ธุรกิจเอกชน และ การมีส่วนรวมของประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้บรรลุผลแบบมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส และความเสมอภาคสู่ “New world landscape” ได้อย่างแท้จริง




ผู้เขียน:
ธีรพัฒน์ เขื่อนปัญญา
รสสุคนธ์ ศึกษานภาพัฒน์
วรินธร ชัยวิวัธน์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 21 ก.ค. 2564


อ้างอิง :

[1] ตามกรอบ Green Bond Endorsed Projects Catalogue 2021 ของจีน ครอบคลุม 6 หมวด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 2. อุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน 3. อุตสาหกรรมป้องกันสิ่งแวดล้อม 4. ธุรกิจเชิงนิเวศน์วิทยาและที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 5. การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว 6.การบริการสีเขียวโดยไม่รวมธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานจากแหล่งต่าง ๆ
[2] รณดล นุ่มนนท์, การธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking), เอกสารหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 60
[3] บทความการเงินเพื่อความยั่งยืน (The Rise of ESG and Green), วารสาร พระสยาม Magazine ฉบับที่ 5 ปี 2562,
[4] Shashwat Koirala (2018), Issues paper: SME’s Key Driver of Green and Inclusive Growth (2018), OECD
[5] Sweta C. Saxena (2021), Towards post-COVID-19 Resilient Economies: Economic and Social Survey of Asia and the Pacific 2021, presented in the UNCTAD-UNESCAP Webinar: Towards Post Covid 19 Resilient Asia-Pacific Economies, 3 June




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>