นายพรชัย ฬิลหาเวสส
หากใครได้ไปเที่ยว ทำธุรกิจ หรือมีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศสักระยะเวลาหนึ่งอาจจะมีความสงสัยเหมือนกับผมเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนต่างชาติที่นิยมใช้บัตรเดบิตในการซื้อสินค้าและบริการตามห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ปั๊มน้ำมัน หรือ แม้กระทั้งร้านสะดวกซื้อตามท้องถนนทั่วไปซึ่งพฤติกรรมการใช้บัตรเดบิตในประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังใช้บัตรเดบิตเพื่อกดเงินสดที่เครื่องเอทีเอ็มเพียงอย่างเดียว เมื่อเปรียบเทียบสถิติกับต่างประเทศพบว่าคนไทยใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องเอทีเอ็ม เครื่องรับบัตร (EDC terminal) และระบบอินเตอร์เน็ตรวมกันเพียงหนึ่งครั้งต่อคนต่อปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ออสเตรเลีย แคนาดา เนเธอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและสวีเดนจะมีปริมาณการใช้เกินกว่า 100 ครั้งต่อคนต่อปี แม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคเอเชียเหมือนกันอย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินเดียก็ยังมีปริมาณการใช้ 43 38 และ 4 ครั้งต่อคนต่อปี ตามลำดับ ซึ่งมีปริมาณมากกว่าคนไทยทั้งสิ้น
สาเหตุหลักที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการมาจากความเข้าใจผิดคิดว่าบัตรเดบิตคือบัตรเอทีเอ็ม ความเคยชินกับการใช้เงินสด และความกังวลเรื่องความปลอดภัย จากอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น ผมจึงขอไขข้อข้องใจและอธิบายในข้อกังวลต่างๆ ว่าจริงเท็จอย่างไร
“บัตรเดบิตกับบัตรเอทีเอ็มไม่เห็นแตกต่างกัน กดเงินสดได้เหมือนกัน” ปัจจุบันหลายคนเข้าใจผิดว่าบัตรเดบิตคือบัตรเอทีเอ็ม โดยเข้าใจว่าบัตรเดบิตสามารถกดเงินสด ชำระเงิน โอนเงิน และเช็คยอดเงินที่เครื่องเอทีเอ็มซึ่งใช้ในประเทศไทยได้เท่านั้น
ผมขออธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดครับ....บัตรเดบิตมีหน้าที่การใช้งานเหมือนและแตกต่างจากบัตรเอทีเอ็มหลายประการ สิ่งที่เหมือนกัน คือ ความสามารถในการกดเงินสด ชำระเงิน โอนเงิน และเช็คยอดเงินที่เครื่องเอทีเอ็มได้ดังที่หลายคนเข้าใจ ส่วนสิ่งที่แตกต่างกัน คือ ความสามารถในการชำระค่าสินค้าและบริการที่เครื่องรับบัตรตามร้านค้าและผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบบัตรของตนเองได้ว่าเป็นบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็ม โดยบัตรเดบิตส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีตราสัญลักษณ์ระบบเครือข่ายนานาชาติ เช่น VISA MasterCard หรือ UnionPay ที่หน้าบัตร หากเป็นบัตรเดบิตรุ่นใหม่จะมีสัญลักษณ์โฮโลแกรม (ภาพ 3 มิติ) ที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของบัตรป้องกันการปลอมแปลง และเราสามารถนำบัตรเดบิตประเภทนี้ไปใช้งานที่เครื่องเอทีเอ็มที่มีเครื่องหมาย Plus หรือ Cirrus ได้ทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีบางธนาคารที่ออกบัตรเดบิตของตัวเองโดยไม่อิงกับเครือข่ายนานาชาติ แต่ก็เพื่อวัตถุประสงค์จำกัด เช่น ซื้อทองคำ เป็นต้น
“กดเงินสดง่าย ตู้เอทีเอ็มที่ไหนก็มี ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้บัตร” คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย เพราะเครื่องเอทีเอ็มมีให้บริการแพร่หลาย เมื่อไปใช้บริการที่เครื่องเอทีเอ็มธนาคารตนเองก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกดเงินสด หากไปใช้บริการที่เครื่องเอทีเอ็มธนาคารอื่นก็สามารถกดเงินสดได้ฟรี 4 ครั้งต่อเดือน จึงทำให้ผู้บริโภคไม่เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจากเงินสดเป็นบัตรเดบิต
เรื่องนี้ผมมีคำตอบครับ….ผมเชื่อว่าปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่ทราบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเมื่อใช้บัตรเดบิตจากโปรโมชั่นของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น การสะสมแต้ม การได้รับส่วนลดร้านอาหารร้านค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ และตั๋วเครื่องบิน ยิ่งไปกว่านั้น บัตรเดบิตบางประเภทยังใช้เป็นบัตรระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นบัตรพ่วงประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต หรือเป็นบัตรที่ให้วงเงินสินเชื่อผ่อนชำระดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น นอกเหนือจากสิทธิพิเศษข้างต้น ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตย้อนหลัง 3 เดือน และสามารถได้รับการยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมรายปีหากมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และที่สำคัญคือประโยชน์กับประเทศของเราเพราะการใช้บัตรเดบิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับประเทศได้ โดยเงินสดเป็นสื่อชำระเงินที่มีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ธนบัตรที่ต้นทุนสูงถึงประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี ไม่รวมถึงการนับคัด ทำลาย ขนส่ง และประกันความปลอดภัยที่มีต้นทุนอีกมหาศาล ซึ่งต้นทุนในการจัดการเงินสดดังกล่าวผู้บริโภคจะไม่ทราบ เพราะไม่เคยถูกคิดค่าบริการ
“หากบัตรเดบิตหาย เงินในบัญชีธนาคารที่ผูกไว้อาจหายด้วย” บัตรเดบิตมีความเสี่ยง เพราะบัตรเป็นแบบแถบแม่เหล็กบันทึกข้อมูลอาจถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวได้ง่าย อีกทั้งหากมีบุคคลอื่นนำบัตรเดบิตไปใช ้เงินจะถูกตัดจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ทันที ไม่เหมือนบัตรเครดิตที่มีการแจ้งยอดการใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระ ทำให้สามารถร้องเรียนไปที่ฝ่ายดูแลบัตรเครดิตได้หากมีการแสดงรายการที่ต้องสงสัย
อย่ากังวลไปเลยครับ….ธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มระบบความปลอดภัยเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากขึ้น สังเกตได้จากการที่บางธนาคารได้เริ่มให้บริการบัตรเดบิตแบบมีชิปเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแทนบัตรแถบแม่เหล็กแบบดั้งเดิม รวมถึงการแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตผ่าน SMS การกำหนดให้ผู้ใช้บัตรเดบิตทักท้วงธนาคารได้หากมีรายการไม่ถูกต้องภายใน 10 วันทำการหลังจากรูดซื้อสินค้าและบริการ มีอิสระในการกำหนดวงเงินซื้อสินค้าต่อวัน รวมถึงการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น Verified by VISA และ Master Card Secure Code เมื่อซื้อสินค้าผ่านบัตรเดบิตทางอินเตอร์เน็ตผมได้ตอบข้อข้องใจในการใช้บัตรเดบิตของคนไทยแล้ว ผมหวังว่าสิ่งที่ได้อธิบายไปนั้นจะช่วยทำให้คุณผู้อ่านเลิกกลัวการใช้บัตรเดบิต ซึ่งนอกจากที่คุณจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายเมื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตแล้ว ประเทศของเราก็ได้ประหยัดต้นทุนในการจัดการเงินสดด้วย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย