​บทความ : จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนความเชื่อมโยงใน GMS

​​นายสถิตย์ แถลงสัตย์
นางสาวนลิน หนูขวัญ

ท่านทราบหรือไม่ว่า กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่เรียงรายตามลุ่มแม่น้าโขง ได้แก่ จีนตอนใต้ (ยูนนาน และกวางสี) เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นกลุ่มประเทศที่โลกกำลังจับตามอง เพราะในระยะ 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่สูงที่สุดในโลกกว่า 7 % ต่อปี และ แน่นอนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า GMS ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดแข็งที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศเป็นแรงขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์บางประเทศมีประชากรวัยทำงานในสัดส่วนที่สูง โดยประชากรใน GMS มีอายุเฉลี่ยเพียง 29 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะสร้างฐานการผลิตของอนุภูมิภาคร่วมกัน

ทั้งนี้ความร่วมมือของ GMS เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 โดยในระยะแรกได้เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า “hard infrastructure connectivity” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 15 พันล้าน เหรียญ สรอ. เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งท่านอาจจะคุ้นเคยกับ ถนน R3A ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตรที่วิ่งจากคุนหมิงผ่านลาวลงสู่เชียงราย หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมประเทศจากจีนผ่านลาวสู่ไทย แม้ว่าการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่การต่อภาพความร่วมมือของ GMS ผ่านการเชื่อมโยงทางกายภาพเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะนอกจากเงินลงทุนที่ยังต้องการอีกมากแล้ว ยังมีกฎกติกาบางอย่างที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้การติดต่อถึงกันทำได้สะดวกขึ้น ท่านที่อาจเคยขับรถเข้าไปเที่ยวน้าตกในลาว ผ่านด่านช่องเม็กที่อุบลราชธานี คงเคยประสบปัญหา เช่น เวลาเปิด-ปิดด่านศุลกากรของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน คล้ายกับการมีถนนพร้อมที่จะให้รถยนต์วิ่ง แต่ยังขาดป้ายบอกทางบนถนน เพราะยังขาดการวางกฎกติกาที่ชัดเจนร่วมกันในการใช้ถนนดังกล่าว

ดังนั้น ท่านคงจะเห็นได้ว่า การต่อภาพความร่วมมือด้วยการสร้างความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องไม่ได้ หรือที่เรียกว่า “soft infrastructure connectivity” จึงมีความสำคัญมากเช่นกัน เพื่อจะได้ภาพที่สมบูรณ์และนำไปสู่ประโยชน์ที่จับต้องได้ สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมทั้งสนับสนุนการค้า การลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการต่อภาพให้สมบูรณ์นั้นต้องมีจิ๊กซอว์ที่สำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่

จิ๊กซอว์ตัวที่ 1 คือ การสร้างความเชื่อมโยงด้านการเงิน ทั้งภาคธนาคาร ระบบชำระเงิน และตลาดการเงิน เพื่อเป็นน้ำหล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ประชาชนใน GMS สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากผู้ให้บริการที่หลากหลาย โดยมีค่าบริการที่ถูก สะดวก และปลอดภัย มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการชำระเงิน ประชาชนสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM หรือชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตใน GMS ที่ไหนก็ได้ รวมทั้งสามารถโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือให้กันได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินตามแผน National e-Payment อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาความเชื่องโยงด้านระบบการช้าระเงินระหว่างกันได้ สำหรับภาคธุรกิจ นอกจากการชำระเงินที่จะสะดวกและรวดเร็ว มากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการเองก็จะสามารถเลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินกีบ เงินจ๊าต เงินบาท เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของคู่ค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนผ่านหลายสกุล และทำให้การค้าขายระหว่างกันทำได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนในลาวและกัมพูชา ที่เราเห็นการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าเกือบ 50% นอกจากนี้ การร่วมกันพัฒนาตลาดทุนให้สามารถเป็นแหล่งระดมทุนของอนุภูมิภาคได้ ก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม เช่น รถไฟความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ใน GMS ให้ดียิ่งขึ้น

จิ๊กซอว์ตัวทิ่ 2 คือ การประสานกฏระเบียบและข้อบังคับระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่แท้จริงใน GMS ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบรวมถึงมาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกัน หรืออาจปรับใช้กฎระเบียบบางอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบด้านการเงินการธนาคารให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันมากขึ้น เพื่อไปสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการเงิน หรือกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการเดินทางข้ามแดน เช่น การลดเวลาขั้นตอนพิธีการศุลกากรต่าง ๆ รวมถึงการทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและผู้ประกอบการมีความพร้อมเข้าใจกฎระเบียบและกระบวนการต่างๆ ในการข้ามพรมแดน โดยเฉพาะระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) ซึ่งหากทำได้ดังนั้นแล้ว ก็เปรียบเสมือนการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใน GMS สามารถน้ารถยนต์ไปวิ่งบนถนนของอนุภูมิภาคได้จริง ประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ประชาชนของ GMS ผ่านการค้าและการลงทุนระหว่างกันที่จะมีมากขึ้น

จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ำย คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เมื่อสร้างถนนใน GMS แล้ว มีป้ายบอกทางที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องสอนคนใน GMS ให้ขับรถให้ดีด้วยการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถของบุคลากรใน GMS โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศ โดยนำกลไกตลาดมาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศ แต่ยังต้องพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมอีกมาก เช่น การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งไทยมิตรประเทศและองค์กรพันธมิตรอื่นๆ พร้อมที่จะร่วมพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านการดำเนินนโยบายการเงิน การคลังรวมทั้งร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและด้านสถาบันให้เข้มแข็งและมีความน่าเชื่อถือ เช่น การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารหนี เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนใน GMS เข้าด้วยกัน และยังจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไปอีกด้วย

มองไปข้างหน้า อนุภูมิภาค GMS ของเราจะไร้พรมแดนมากขึ้น ประชาชนใน GMS จะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวกกว่าในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีโอกาสค้าขายกันมากขึ้น เราจะได้เห็นสินค้าและบริการต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ผลไม้ หรือแม้แต่ธุรกิจบันเทิงร้านอาหารไปขายและให้บริการใน GMS มากขึ้น ขณะที่เราจะได้บริโภคสินค้าที่หลากหลายจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการซื้อขายและทำธุรกรรมออนไลน์โดยมีบริการทางเงินที่ถูก สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย ที่จะสนับสนุนประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้ผลิต นักลงทุน หรือแรงงาน

ภาพความร่วมมือของ GMS ที่ชัดเจนขึ้น ในหลายมิตินี้คงไม่นำมาเพียงโอกาส แต่ยังนำมา ซึ่งความท้าทาย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงที่มากขึ้น รวมทั้งกระแสคลื่นเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ที่ไหลมาอย่างรวดเร็ว ให้เราได้ตื่นตัว และค้นหาจิ๊กซอว์ตัวใหม่มาต่อติดความเชื่อมโยง เพื่อความมั่งคั่งและกินดีอยู่ดีของประชำชนใน GMS ต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย