​นโยบายการเงิน: ปรับกระบวนท่ารับความเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก หลายท่านคงจับตามองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ต้องรับมือกับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี นักวิเคราะห์ต่างพยายามคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่าไรกันแน่ในปีนี้ หลังจากขึ้นไป 0.50% เมื่อ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้าน Fed เองก็พยายามสื่อสารอย่างเต็มที่เพื่อให้ตลาดการเงินคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะหากผลการตัดสินนโยบายการเงินออกมาผิดแผกไปจากที่คาดการณ์ไว้มาก จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้

Corporate Managers Working at the Table in Monitoring Room. Room is Full of State of the Art Technology. Computers with Animated Screens.; Shutterstock ID 669170812; purchase_order: BOT; job: ; client: ; other:

การเน้นสื่อสารนโยบายการเงินอย่างชัดเจนและเปิดเผยนั้นแตกต่างจากธรรมเนียมของธนาคารกลางในอดีตที่เน้นรักษาความลับของทิศทางนโยบายการเงิน เพราะถือว่าหากใครรู้ลึกรู้ก่อนก็จะสามารถนำไปแสวงหากำไรได้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษท่านหนึ่ง คือ Montagu Norman (1920-1944) ถึงกับเคยมีคติที่ว่า “Never apologize, Never explain” คือ ไม่กล่าวขอโทษและไม่อธิบายใด ๆ เกี่ยวกับนโยบายเลย

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้นโยบายการเงินทำงานได้ผลตามจุดมุ่งหมาย

หนึ่งในแนวโน้มของธนาคารกลางทั่วโลก คือ การลดความถี่ของการประชุมตัดสินนโยบายการเงินลง เพื่อลดความผันผวนจากการคาดการณ์บ่อยครั้ง (noise) และช่วยให้ผู้เล่นในตลาดการเงินประเมินทิศทางนโยบายได้ดีขึ้น อีกทั้งข้อมูลเศรษฐกิจมักเป็นข้อมูลความถี่ต่ำ การเว้นช่วงการประชุมนานขึ้นทำให้ธนาคารกลางมีข้อมูลใหม่เพื่อใช้ตัดสินใจมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาเพื่อส่งผลในอนาคต จึงไม่ควรตอบสนองต่อความผันผวนระยะสั้น แต่ควรตอบสนองต่อแนวโน้มในระยะปานกลางเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ โดยธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ลดความถี่ของการประชุมลง เช่น ธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษ ที่เดิมประชุม 12 ครั้งต่อปี ลดเหลือ 8 ครั้งต่อปีตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกลางสวีเดนลดจาก 6 ครั้งต่อปี เหลือ 5 ครั้งต่อปีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้น สำหรับไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดการประชุมจาก 8 ครั้งต่อปี เป็น 6 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปี 2565 นี้ โดย กนง. ยังมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย อาทิ สามารถประชุมรอบพิเศษเพิ่มได้หากจำเป็น (เช่น ตอนวิกฤตโควิดปี 2563) หรือสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าครั้งละ 0.25% ก็ได้ (เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2551 กนง. เคยลดอัตราดอกเบี้ยถึง 1.00% ในการประชุมครั้งเดียว)



นอกจากนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกพยายามปรับปรุงการประชุมนโยบายการเงินผ่านการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เช่นเดียวกับ กนง. ที่ได้ปรับปรุงกระบวนการประชุมและวิธีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง อาทิ การประชุม กนง. ประกอบไปด้วย 2 วัน โดยการประชุมวันแรกจะเน้นการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและนัยต่อนโยบาย ส่วนการประชุมวันที่สองจะเน้นทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมและการลงมติ ซึ่งทำให้กรรมการมีเวลาในการพิจารณาข้อมูลและแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันอย่างเต็มที่ และหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ กนง. จะเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อ ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญที่กรรมการอภิปรายในการประชุมทั้งสองวัน รวมถึงเหตุผลในการตัดสินนโยบายการเงินของทั้งกรรมการเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยด้วย

หลักความรับผิดชอบเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบาย โดย กนง. และกระทรวงการคลังร่วมกันกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินและได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปี รวมทั้ง กนง. ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุก 6 เดือน นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ต้องมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเปิดเผยให้ประชาชนทราบ เพื่อชี้แจงเหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย แนวทางการดำเนินนโยบาย และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยตั้งแต่ปี 2563 กนง. ได้ปรับปรุงเกณฑ์การติดตามเงินเฟ้อให้เข้มข้นขึ้น โดยดูทั้งจากค่าเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการเฉลี่ยใน 12 เดือนข้างหน้า และ กนง. ต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน จนกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งสองแนวทางจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งล่าสุด กนง. ได้มีจดหมายเปิดผนึกไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565

ในปี 2565 นี้ ธปท. ได้ดำเนินงานมาครบรอบ 80 ปี นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับปรุง “รูปแบบ” การดำเนินงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนไป แต่ “หลักการ” ของธนาคารกลางที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินยังคงเดิม ทั้งนี้ ธปท. จะปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจการเงินยุคใหม่และนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน


ผู้เขียน :
นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
กฤตพร ตรงนำชัย
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย