“คุณใช้เงินสดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” น่าจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจต้องใช้เวลานึกเพื่อตอบคำถามนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวรับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน มีเจลแอลกอฮอล์เป็นอุปกรณ์ประจำตัว เช็คอุณหภูมิก่อนเข้าร้านค้า และเกิดความคุ้นชินใหม่ในการใช้จ่าย ชำระค่าสินค้าและบริการด้วย digital payment แทนการใช้เงินสด ที่พบเห็นมาก คือ การใช้มือถือสแกน QR code เพื่อจ่ายเงิน


Digital payment นับเป็นทางเลือกที่ดีในการชำระเงินที่ทั้งสะดวก ง่าย และปลอดภัย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเงินสดและอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน mobile banking หรือ e-Money หรือการใช้บัตรเติมเงิน บัตรเดบิต และบัตรเครดิต แบบ contactless ที่เราสามารถแตะจ่ายค่าสินค้า ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ โดยไม่ต้องส่งบัตรให้พนักงานรูดกับเครื่องแล้วเซ็นหรือกดรหัส

ปัจจุบันช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการชำระเงินผ่าน mobile banking ซึ่งเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนบัญชี mobile banking มากถึง 75 ล้านบัญชี และระหว่างปี 2560 – 2563 มีอัตราการใช้งานเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 93.9% จนรายงาน Digital 2021 Global Overview Report ชี้ว่าคนไทยทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ครองแชมป์อันดับหนึ่งของโลก เพราะการใช้งานที่ง่ายและสะดวก ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส และทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเช็คยอดเงินคงเหลือในบัญชี โอนเงินระหว่างธนาคารได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โอนเงินผ่านระบบ PromptPay ชำระเงินค่าสินค้า/บริการด้วยการสแกน Thai QR code ได้ทั้งการซื้อของที่ร้านค้าและซื้อผ่าน online จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค ถอนเงิน ขอสินเชื่อ ลงทุนในหลักทรัพย์ ซื้อประกัน นอกจากนี้บริการยังรวดเร็วทันใจ เพราะธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบ real-time เช่น โอนปุ๊บได้รับเงินปั๊บ สะดวก ปลอดภัย เชื่อถือได้ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมถูกมาก ๆ และหลายบริการไม่คิดค่าธรรมเนียม

Mobile banking จึงเป็นเหมือน ธนาคารในมือ(ถือ)คุณ จัดเป็นของที่ต้องมี เพราะตอบโจทย์ผู้ใช้ในหลายด้านและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากทีเดียว หากได้ลองใช้จนคุ้นชิน เชื่อว่าคุณจะติดใจ ไม่อยากหันกลับไปใช้เงินสด หรือไปรอคิวทำธุรกรรมที่สาขาอีกเลย

“แล้วถ้าไม่มีหรือไม่อยากใช้บัญชีธนาคาร จะยังใช้ digital payment ได้ไหม?” แน่นอนว่าคุณมีทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินเสมอ เช่น การเติมเงินเข้าบัญชี e-Money ทั้งในรูปแบบบัตรอย่างบัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรร้านกาแฟ และบัตรทางด่วน และในรูปแบบ e-Money แอปพลิเคชันที่สามารถใช้สแกน QR code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ หรือชำระบิลได้ ปัจจุบันผู้ให้บริการ e-Money ดังกล่าวมีการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย ส่วนลด แต้มสะสม ให้บริการที่เชื่อมต่อกับระบบธนาคารในการโอนเงินเข้าออก เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้กับลูกค้า จนกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบันมีจำนวนบัญชี e-Money ของผู้ให้บริการ non-bank สูงถึง 86.6 ล้านบัญชี จากจำนวนบัญชี e-Money ทั้งหมด 107.8 ล้านบัญชี

Digital payment ไม่ได้มีเฉพาะเพื่อการจ่ายเงินเท่านั้น แต่ยังให้บริการเรื่องการรับเงินอีกด้วย และที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ PromptPay ที่เราสามารถลงทะเบียนผูกกับหมายเลขโทรศัพท์และเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีธนาคาร ทำให้เราสามารถแจ้งเลขดังกล่าวแทนเลขบัญชีธนาคารในการรับเงินได้ โดยเฉพาะบัญชี PromptPay ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนนั้นสามารถรับเงินคืนภาษี และรับเงินสวัสดิการจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น เงินเยียวยาตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าบัญชีธนาคารของเราได้โดยตรง ถูกต้องและตรวจสอบได้ นอกจากนี้มีการพัฒนาต่อยอดให้ความสะดวกแก่ร้านค้า เช่น สามารถสร้าง QR code ผ่านมือถือ/แท็บเล็ต เพื่อแจ้งเตือนเมื่อลูกค้าจ่ายเงินได้ การจัดการร้าน การสรุปยอดขายเพื่อโอนเงินเข้าบัญชี การจัดการสิทธิให้พนักงานได้รับการแจ้งเตือนเมื่อเงินเข้า และการสร้างโปรโมชันหรือทำบัตรสะสมแต้ม ซึ่งช่วยสนับสนุนร้านค้าในการทำธุรกิจได้อย่างสะดวก สามารถดูความเคลื่อนไหวของการขายได้จากทุกที่และตลอดเวลา พนักงานขายไม่ต้องกังวลเรื่องทอนเงินผิด และยังช่วยเว้นระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือร้านค้า คนจ่ายเงินหรือคนรับเงิน จะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือชนบท จะมีบัญชีธนาคารหรือไม่ก็ตาม การมี digital payment จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินที่หลากหลาย สะดวก รวดเร็ว ง่าย ปลอดภัย ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สอดรับกับการอยู่ในโลกยุคใหม่และวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

คุณล่ะ... วันนี้มี digital payment แล้วรึยัง?


ผู้เขียน :
สิริกานต์ กิจเจริญ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย