การเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน หรือโยคะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการรวมกลุ่มเพื่อชมการแข่งขันกีฬาได้กลายเป็นกิจกรรมที่จัดบ่อยครั้งขึ้นหลังห่างหายไปตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 แต่รู้หรือไม่! การเล่นกีฬาไม่ใช่แค่ส่งเสริมสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของวงการกีฬาเอง มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน
มูลค่าของวงการกีฬา: สโมสรและมูลค่านักกีฬา กรณีการแข่งขันฟุตบอลในลีกชั้นนำของประเทศหรือ Thai League ทั้ง 3 ระดับที่จัดการแข่งขันระหว่างสโมสรทั่วประเทศ 90-100 แห่งเป็นประจำทุกปี ก่อนเริ่มฤดูกาลจะเป็นช่วงเปิดตลาดซื้อขายและทำสัญญาของนักเตะรายบุคคล ดีลซื้อขายนักเตะที่แพงที่สุดในไทยอยู่ที่ 50 ล้านบาท และในแต่ละปีรายได้รวมของนักเตะทุกสโมสรในประเทศมีมูลค่าราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ แต่ละสโมสรยังต้องมีทีมงานเพื่อพัฒนาคุณภาพนักกีฬา ทั้งโค้ช นักกายภาพ นักวิเคราะห์กลยุทธ์ (Sport analysts) นักโภชนาการ ผู้ดูแลสนาม และทีมสื่อ (Content creators) สำหรับกระจายข่าวสารไปยังแฟนคลับ รวมถึงหลายสโมสรก่อตั้งศูนย์พัฒนานักกีฬาเยาวชน (Academy) ทำให้ต้องเพิ่มส่วนงานที่ช่วยพัฒนาทักษะของเยาวชนอีกด้วย นับว่าหนึ่งสโมสรกีฬาก่อให้เกิดการจ้างงานหลายตำแหน่งและมีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ค่อนข้างมาก
มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง: ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และที่พักแรม ได้รับประโยชน์อย่างมาก ทั้งรายได้จากสโมสรทีมเยือน และจากแฟนคลับที่ไปร่วมชมการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่จัดแข่งขันทั่วประเทศเกิดการหมุนเวียน ธุรกิจเสื้อผ้าและสินค้าที่ระลึก มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับจ้างผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสโมสร อาทิ เสื้อบอล ผ้าพันคอ รวมทั้งของฝากประจำถิ่น โดยบางสโมสรเปิดโอกาสให้แฟนคลับมีส่วนร่วมในการออกแบบชุดแข่งและของที่ระลึกด้วย นอกจากนี้ กระแสการเล่นกีฬาและการแนะนำผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากนักกีฬาได้สนับสนุนให้ธุรกิจอาหารสุขภาพและอาหารเสริมขยายตัวแบบก้าวกระโดด จากการพูดคุยกับสโมสรในไทยลีกหลายแห่ง ประเมินเบื้องต้นได้ว่าอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้สูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อหนึ่งฤดูกาลแข่งขัน
มูลค่าแฝงที่มากกว่าตัวเงิน: สโมสรกีฬาเปรียบเสมือนความภูมิใจของแฟนคลับ และเป็นแหล่งรวมความสามัคคีของท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ท้องถิ่นจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนที่ต้องการมีสุขภาพดีและต้องการสร้างรายได้ด้วยอาชีพนักกีฬาในสโมสรบ้านเกิด โดยสุขภาพที่ดีขึ้นจากการเล่นกีฬาและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนที่เพิ่มขึ้นช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณสุข และทำให้ภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนหรือแก้ไขปัญหาสังคมได้ง่ายขึ้น โดยใช้งบประมาณน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมูลค่าของอุตสาหกรรมกีฬาไทยยังต่ำกว่าต่างประเทศมาก และการพัฒนาธุรกิจกีฬาไทยยังมีอุปสรรค ส่วนหนึ่งจากการสร้างสโมสรต้องพึ่งพาเงินทุนจำนวนมาก และโครงสร้างรายได้ของสโมสรไทยยังเปราะบางเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยสโมสรฟุตบอลในระดับ Thai league1 ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับสูงสุดของประเทศยังต้องพึ่งพารายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันเป็นหลัก ราวร้อยละ 50 ของรายได้ต่อปี ส่วนรายได้จากบัตรเข้าชมการแข่งขันและสินค้าที่ระลึกช่วยเสริมสภาพคล่องของสโมสรได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านกำลังซื้อของคนไทยที่ไม่สามารถตั้งราคาสูงได้ ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพาเงินทุนจากผู้สนับสนุน (Sponsors) ซึ่งหาได้ยาก โดยเฉพาะสโมสรท้องถิ่น ต่างจากในต่างประเทศที่สโมสรและนักกีฬามีชื่อเสียง จึงดึงดูดธุรกิจและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขันและสินค้าที่ระลึก
การยกระดับและเพิ่มมูลค่า “อุตสาหกรรมกีฬาไทย” จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมในหลายมิติ ทั้งสนับสนุนเงินทุนแก่ทีมกีฬา โดยเฉพาะสโมสรท้องถิ่น สร้างโรงเรียนกีฬาหรือสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ เพื่อช่วยพัฒนานักกีฬาในท้องถิ่นให้มีคุณภาพและสร้างชื่อเสียง สามารถดึงดูดผู้สนับสนุนและต่อยอดสร้างมูลค่าให้แก่สโมสร ส่งเสริมให้กีฬาเป็นกิจกรรมเด่นของพื้นที่ ผ่านการจัดกิจกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแข่งขัน ควบคู่กับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่สนใจกีฬา สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้กีฬาแทรกซึมเข้ามาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ชื่นชอบของคนไทยในวงกว้าง ฐานแฟนคลับจะเพิ่มขึ้นและเข้มแข็ง ช่วยสร้างรายได้ให้สโมสรกีฬาอย่างยั่งยืน
เพราะการเล่นกีฬาไม่ใช่เพียงเพื่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาไทย จะเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
ผู้เขียน :
ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
ณัคนางค์ กุลนาถศิริ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย