ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
“การคิดและการทำให้มากขึ้นในกรอบความคิดเดิม อาจจะไม่เพียงพอ การจัดการกับปัญหาหลายเรื่องอาจต้องอาศัยกรอบความคิดใหม่และวิธีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น”[1] เป็นคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขอนำมาเริ่มต้นบทความเพื่อตอบคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร หลังจากที่บทความตอนก่อนได้สรุปว่าเศรษฐกิจไทยโตมาด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการจัดสรรแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเอื้อให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับการปรับตัวของภาคธุรกิจมาโดยตลอด
เมื่อมองไปข้างหน้า กระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้สร้างอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในรูปแบบเดิม ๆ ทั้งจากอายุเฉลี่ยของแรงงานที่สูงขึ้นจึงรับมือกับการปรับตัวได้ยาก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่ทำให้นายจ้างต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ ๆ ซึ่งไม่มีสอนในสถาบันการศึกษา ตลอดจนความไม่แน่นอนในภาคเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้ว่านักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาที่ไทยในวันนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้าโลก จะไม่ย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่นในอนาคตหลังสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
แนวทางจัดการปัญหาด้วยกรอบความคิดใหม่และวิธีการทำงานเชิงรุกจึงเป็นหัวข้อที่ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันคิด และขอหยิบยกการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันมาแสดงเป็นตัวอย่าง กล่าวคือ ในอดีตนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะให้ความสำคัญต่อมุมมองแบบ นกแลดิน ซึ่งเมื่อมองลงจากท้องฟ้า ย่อมพบเห็นดาดฟ้าของอาคารเป็นสิ่งแรก ๆ เปรียบได้กับการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่มีตัวเลขการเติบโตสูง มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ อันอาจเกิดจากการเติบโตได้ดีของกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ไม่แน่เสมอไปว่าผลบวกนั้นได้ส่งผ่านไปยังแรงงานและประชาชนอย่างเต็มที่ หลายภาคส่วนจึงเคลือบแคลงใจในตัวเลขเศรษฐกิจว่าจะดีได้อย่างไรในเมื่อคนจำนวนไม่น้อยยังเผชิญกับปัญหาปากท้อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตัวเลขในภาพรวมไม่ถูก แต่อาจเป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มที่ปรับตัวได้และไม่ได้
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันจึงได้เพิ่มเติมมุมมองแบบ กระต่ายหมายเดือน ซึ่งติดตามภาวะเศรษฐกิจในระดับจุลภาคทั้งรายได้ประชาชนและผลประกอบการของภาคธุรกิจ โดยจำแนกย่อยออกเป็นหลายแง่มุมทั้งในด้านที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ สาขากิจกรรม และสภาพสังคม เป็นต้น หลังจากมองผ่านทั้งมุมของนกและกระต่ายแล้ว ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจึงสามารถประเมินผลของมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างถี่ถ้วน และสามารถชั่งน้ำหนักการตัดสินใจได้อย่างครบถ้วน
เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบคิดของทั้งสองมุมมอง จะขอหยิบยกแนวทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจการเกษตรและแรงงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญและมีผลกระทบในวงกว้างผ่านจำนวนคนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1. การปรับเป้าหมายเศรษฐกิจด้านเกษตรจากการให้ความสำคัญที่ราคาสินค้าเกษตร ในมุมมองของนก มาเป็นมองแบบกระต่ายด้วยการให้ความสำคัญกับรายได้ที่เหลือถึงมือเกษตรกร ทั้งนี้สินค้าเกษตรมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์จึงมีราคาที่ผันผวนทั้งในประเทศและตลาดโลก จึงถูกกำหนดโดยหลากหลายปัจจัยทั้งจากสภาพดินฟ้าอากาศ ความต้องการของผู้ซื้อ และแนวทางดำเนินธุรกิจของคู่แข่ง จึงแทรกแซงและควบคุมได้ยาก ดังนั้น การที่หลายหน่วยงานภาครัฐร่วมกันใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อคาดการณ์และติดตามพัฒนาการผลผลิต ราคา ต้นทุน และหนี้สินของเกษตรกร[2] โดยตั้งเป้าหมายในการยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยไม่ต้องพึ่งพาเพียงการสนับสนุนด้านราคาเพียงอย่างเดียว จึงมีส่วนช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้นได้ ในขณะที่ภาครัฐเองก็สามารถลดภาระการคลังซึ่งเกิดจากการใช้เงินงบประมาณพยุงราคาสินค้าเกษตรดังเช่นในอดีต
2. การประเมินตลาดแรงงานไทยเพิ่มเติมจากการติดตามเพียงอัตราการว่างงานซึ่งเป็นมุมมองแบบนก ผ่านสายตาของกระต่ายที่ติดตามเครื่องชี้หลายด้านเช่น รายได้ ชั่วโมงการทำงาน ความต้องการแรงงาน และแนวโน้มการจ้างงานของนายจ้าง[3] เป็นต้นจึงช่วยให้ภาครัฐเข้าใจตลาดแรงงานได้ลึกซึ้ง สามารถดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น อันได้แก่ การออกแบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อดูแลแรงงานที่ยังปรับตัวไม่ได้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะที่ตรงความต้องการของตลาด
ปัจจัยหลักที่จะกำหนดความสำเร็จของการเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยคงต้องขึ้นกับการที่พวกเราทุกคนสามารถปรับตัวภายใต้กรอบความคิดใหม่ ๆ ผ่านการผสมผสานมุมมองแบบนกและกระต่าย ทั้งภาคประชาชนในฐานะทุนมนุษย์และกำลังซื้อหลัก ภาคธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงภาครัฐที่ต้องจัดโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคของกระบวนการสร้างนวัตกรรมและการปรับตัวทางธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพสูงขึ้นและมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันและเดินหน้าการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
[1] วิรไท สันติประภพ 2559, “Thailand Agenda 2030: วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน”
[2] ณรงค์ศักดิ์ การันต์ และคณะ 2561, “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร: ฐานของการพัฒนาภาคเกษตรไทยยุค 4.0”
[3] ธิรดา ชัยเดชอัครกุล และปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ 2562, “นัยที่แฝงเบื้องหลังอัตราการว่างงานที่ต่ำ”
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย