นางสาวภัทรมน พลพิพัฒนพงศ์
เป็นเวลา 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มใช้หลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยตามแนวทางมาตรฐานสากล Basel 3 เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 56 ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับฐานะและการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของเงินภาษีที่จะต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินหากเกิดวิกฤติดังเช่นปี 2540 ซึ่งหลังจากการเริ่มใช้ Basel 3 เป็นเวลา 2 ปี หลายท่านคงอยากรู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรเกิดขึ้นบ้างกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
หลักเกณฑ์ Basel 3 มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพและปริมาณของเงินกองทุน เพื่อให้เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับความเสียหายกรณีที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินขึ้น คือไม่ล้มหายตายจากไปง่าย ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติของตราสารเงินกองทุนให้สามารถรองรับความเสียหายได้ดีขึ้นและดำรงเงินกองทุนที่มีคุณภาพดีที่สุด หรือที่เรียกว่า Common Equity Tier 1 (CET1) ซึ่งก็คือหุ้นสามัญและกำไรสะสมเป็นหลัก รวมทั้งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดารงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Buffer) เพื่อให้สามารถรองรับความผันผวนในภาวะวิกฤติได้ดียิ่งขึ้น
ในช่วงที่เริ่มใช้หลักเกณฑ์ Basel 3 เมื่อต้นปี 2556 นั้น ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีการปรับตัวมากนัก เพราะเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในไทยประกอบด้วย CET1 เป็นหลักอยู่แล้ว จึงสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel 3 ได้ทันที ไม่มีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้หลักเกณฑ์ Basel 2 มาเป็น Basel 3 และในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยเฉลี่ยก็สามารถดำรงอัตราส่วน BIS ratio ได้ที่ระดับ 16.8% (ข้อมูล ณ พ.ย. 57) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ 8.5 % มาก อีกทั้งเงินกองทุนที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ก็เป็นส่วนที่มีความมั่นคงสูง คือ CET1 ถึง 13% (คิดเป็นประมาณ 75% ของเงินกองทุนทั้งสิ้น) สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 4.5%
จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์โดยไม่กระทบกระเทือนกับความสามารถในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ในบางประเทศที่อาจต้องมีการปรับตัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการออกตราสารเงินกองทุน หรือการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel 3 ได้ โดยจะเห็นได้จากข้อมูลในปี 2556 สินเชื่อยังคงเติบโต 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งในไตรมาส 3 ของปี 2557 นั้น ถึงแม้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อจะชะลอตัวลง คือขยายตัวเพียง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน แต่ก็สอดคล้องกับภาวะของของเศรษฐกิจในประเทศก็มีการชะลอตัวลงเช่นกัน คือ GDP (ราคาประจำปี) ของไตรมาส 3 นั้น ขยายตัวเพียง 1.5% (yoy)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็มีการปรับเปลี่ยน Business model คือหันมาเน้นการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อ SME จะมีการขยายตัวมากกว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยส่วนหนึ่งก็อาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการที่จะบริหารจัดการเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (Capital Efficient) ก็อาจมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อแก่ภาค SME ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า และสามารถประหยัดเงินกองทุนมากกว่าการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงหลักเกณฑ์ของ Basel นั้น สินเชื่อ SME จะได้รับน้ำหนักความเสี่ยงในการคำนวณเงินกองทุนต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจ คือได้รับน้ำหนักความเสี่ยงที่ 75% ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับน้าหนักความเสี่ยง 100%
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายรายก็มีการวางแผนในการบริหารเงินกองทุนของตน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการออกและเสนอขายตราสารเงินกองทุนที่เข้าเงื่อนไขสามารถนับเป็นเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel 3 ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงสิ้นปี 2557 แล้วประมาณ 76,000 ล้านบาท และมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายรายซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการออกและเสนอขายตราสารทางการเงินดังกล่าวเช่นกัน โดยการออกตราสารเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อทดแทนตราสารเดิมที่จะทยอยหมดอายุไป เพื่อรักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนให้คงที่ และในส่วนของผู้ลงทุนก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุนในตราสารเหล่านี้
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากการนำหลักเกณฑ์ Basel 3 ด้านเงินกองทุนมาใช้ จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ในไทยสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เป็นอย่างดี โดยยังคงสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์นั้นก็จะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และนโยบายของธนาคารพาณิชย์เอง ว่าจะสามารถบริหารจัดการเงินทุนให้มีความสมดุลได้อย่างไร
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย