การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกเดือนเมษายนทำให้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต้องเผชิญกับวิกฤติอีกครั้ง หลายธุรกิจเผชิญผลกระทบตั้งแต่รายได้ลดลงไปจนถึงการปิดกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การบริการและการค้า จากข้อมูลโครงสร้างธุรกิจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2563 พบว่า SMEs จ้างงานมากถึง 12.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของการจ้างงานภาคธุรกิจในปี 2563 จึงมีบทบาทสำคัญทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก บทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการปรับตัวและการช่วยเหลือเพื่อปลดล็อก SMEs จากปัญหาที่เผชิญอยู่ให้สามารถปรับตัวไปสู่โลกยุคหลัง COVID-19 ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถจำแนกได้เป็น 4 ด้านที่สำคัญ คือ
ประการแรก ด้านรายได้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รายได้ SMEs ลดลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องช่วยพยุงการบริโภคได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยทำให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นคือ การเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จากการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจการท่องเที่ยวเพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจของคณะทำงานสายนโยบายการเงิน ธปท. พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งพร้อมที่จะกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ หากมีผู้ฉีดวัคซีนในประเทศถึงระดับที่เกิด herd immunity ภาครัฐจึงต้องมีการบริหารจัดการให้มีการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการสร้างความเข้าใจ หรือมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนที่วางไว้
ประการที่สอง ด้านต้นทุนด้านสาธารณสุขของผู้ประกอบการสูงขึ้น จากการปรับตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการผลิต อาทิ ค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุนราคาโลหะและเหล็กที่สูงขึ้น เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามปรับลดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ แต่ยังมีต้นทุนบางส่วนที่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือชั่วคราวได้ เช่น ภาษีรถโดยสารสาธารณะ ภาษีป้าย การงดเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าในกลุ่มสารฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจขยายขอบเขตความช่วยเหลือในการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานผ่านมาตรการ co-payment ไปยัง SMEs ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม
ประการที่สาม ด้านสภาพคล่อง การขาดรายได้พร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะที่การปรับราคาทำได้ยาก ส่งผลให้ SMEs จำนวนมากขาดสภาพคล่องและเข้าสู่วิกฤติทางการเงิน ธุรกิจที่เคยมีศักยภาพจำเป็นต้องปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวร ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อพยุงธุรกิจของ SMEs เป็นกุญแจสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อนี้ ภาครัฐ รวมถึง ธปท. และสถาบันการเงิน จึงได้ร่วมกันออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและกลไกในการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ในวิกฤติครั้งนี้ เราได้เห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายรายก็ได้เข้ามาช่วยเหลือทั้งการลดค่าเช่า และการเพิ่มค่าส่วนแบ่งกำไรสินค้าและบริการ เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น มีความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ใน ภาคการค้า ได้แก่ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป กับสถาบันการเงินที่ร่วมกันสร้างกลไกประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขอสินเชื่อของ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์และคู่ค้าของบริษัท ทำให้ SMEs มีเอกสารรับรองศักยภาพของธุรกิจเพื่อยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใหญ่รายอื่นหรือภาคธุรกิจอื่นนำ รูปแบบดังกล่าวไปใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะช่วยขยายผลให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถอยู่รอดได้มากขึ้น
ประการสุดท้าย ด้านทรัพยากร ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านแรงงานที่มีทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ ไปจนถึง เทคโนโลยีที่ช่วยให้การผลิตและบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ SMEs ไทย เผชิญมาอย่างยาวนาน สามารถแก้ปัญหาได้โดยพึ่งพากลไกของภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งการเพิ่มแต้มต่อให้ SMEs และลดข้อจำกัดของการเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ การยกเลิกกฎหมายล้าหลัง เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ SMEs เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก อาทิ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น ตัวอย่างที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ คือ การจัดตั้งกองทุน restart ธุรกิจหลัง COVID-19 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนรายใหญ่เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยภาครัฐเสนอสิทธิพิเศษทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุน
ท้ายนี้ การที่ธุรกิจ SMEs จะสามารถปลดล็อกตัวเองจากปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐที่ช่วยเร่งกระจายฉีดวัคซีนเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือด้านต้นทุน และสภาพคล่อง จากทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นคู่ค้า เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไป ในขณะที่ SMEs เองก็ต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า
ผู้เขียน:
แลนด์ สนธิชาติกุล
ชุติกา เกียรติเรืองไกร
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2564