ดร. สุรัช แทนบุญ
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีคำถามว่าในภาวะที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้น ทำไมอัตราดอกเบี้ยถึงต้องปรับขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไปอีก นโยบายการเงินให้ความสำคัญกับเงินเฟ้ออย่างเดียวหรือ และทำไมนโยบายการเงินถึงตอบสนองกับ supply shock ทั้งๆ ที่ทฤษฎีบอกว่าทำไม่ได้ ผมคงไม่สามารถตอบแทนผู้กำหนดนโยบายได้ แต่จะขอใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยจึงได้ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และจะมีแนวโน้มขาขึ้นในระยะต่อไปก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าราคาสินค้าและบริการทั่วไปที่ปรับสูงขึ้นมีที่มาจากปัจจัยใดบ้าง
ปัจจัยแรกที่ทำให้ราคาสูงขึ้นคือเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวดีในปัจจุบัน ความต้องการเมื่อเทียบกับผลผลิตที่มีอยู่ (หรือที่เรียกกันว่าอุปสงค์ส่วนเกิน) จะส่งผลให้มีการแย่งกันใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่มีอยู่จำกัด ทำให้ต้นทุนถีบตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องขึ้นราคาเพื่อรักษากำไร สำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้ประเมินว่าอุปสงค์ส่วนเกินจะเริ่มมีมากขึ้นเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งสะท้อนจากโรงงานที่ต้องเดินเครื่องต่อเนื่องเพื่อผลิตให้ทันกับคำสั่งซื้อ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเพื่อรองรับการผลิต
ปัจจัยที่สองคงไม่พ้นราคาสินค้าบางชนิดที่เร่งตัวขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยทั่วไปแล้วหาก “supply shock” ดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไป ผลกระทบที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อจะมีเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะเวลาที่อุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ราคาน้ำมันและวัตถุดิบสูงขึ้น ผู้ประกอบการอาจกล้าที่จะขึ้นราคาหากมีแรงซื้อรองรับ ในทางตรงข้ามเศรษฐกิจซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นตัวเช่นกรณีสหรัฐฯ คนตกงานเป็นจำนวนมาก หากมองไปข้างหน้าแล้วไม่เห็นอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ผู้ประกอบการก็จะไม่กล้าขึ้นราคาสินค้ามากนัก ดังนั้น ผลของ supply shock อาจจะทวีความรุนแรงในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ซึ่งเป็นภาวการณ์ปัจจุบันในกรณีของประเทศไทย
ปัจจัยที่สามและอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อเงินเฟ้อคือการคาดการณ์เงินเฟ้อ หากสาธารณชนคิดว่าราคาโดยรวมในอนาคตมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แนวโน้มของต้นทุนก็จะสูงขึ้นไปด้วย เช่นในกรณีที่แรงงานเรียกร้องขอปรับค่าแรงเพราะแนวโน้มค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตสูง เช่นในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในแถบประเทศผลิตน้ำมันหลักของโลกจะจบเมื่อไร หรือขยายวงกว้างออกไปถึงไหน ผู้ประกอบการอาจจะคาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และปรับขึ้นราคาสินค้ามากกว่าหรือนานกว่าในกรณีที่มีข้อมูลชัดเจน ทั้งนี้ การศึกษาหลายๆ ชิ้นพบว่าในระยะยาวเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในบรรดาสามปัจจัยนี้ในการกำหนดพลวัตเงินเฟ้อของไทย
คราวนี้มาดูว่านโยบายการเงินควรดำเนินไปอย่างไรเมื่อเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้นนโยบายการเงินคงทำอะไรไม่ได้มากกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรราคาน้ำมันก็จะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อลงจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งถูกเพียงส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วย และส่งผลต่อเนื่องไปยังประชาชนและผู้ประกอบการในวงกว้าง ขอขึ้นค่าแรงและเงินเดือนบ้าง ขอขึ้นราคาสินค้าบ้าง ถึงแม้สมมติว่าราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงราคาต่างๆ ก็จะไม่ปรับลดลงตามทันทีหากการคาดการณ์เงินเฟ้อเตลิดไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับฝังตัวอยู่นานในแนวโน้มเงินเฟ้อ
ดังนั้น นโยบายการเงินมีหน้าที่ในการช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและผู้ประกอบการ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เนิ่นๆ รวมถึงการส่งสัญญาณชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไปหากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูง จะมีส่วนช่วยให้ภาคเอกชนอนุมานได้ว่าอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจจะถูกขจัดออกบ้าง ส่งผลให้เงินเฟ้อที่คาดการณ์ลดลงและในที่สุดก็ถูกยึดเหนี่ยวไว้ และหากนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวรั้งการคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปมากเพื่อชะลอเศรษฐกิจ
คำถามสำคัญก็คือว่าอะไรจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ การที่ประชาชนและผู้ประกอบการจะเชื่อว่าเงินเฟ้อจะไม่ขึ้นสูงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นั้นขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินแบบมีเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยมีเป้าประสงค์และกฎกติกาที่ชัดเจนที่จะต้องรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบและขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ มีส่วนเสริมสร้างประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน เพราะสาธารณชนสามารถประเมินได้ว่าที่ผ่านมาเงินเฟ้อเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายบ่อยเพียงใดและอธิบายได้หรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในช่วงเงินเฟ้อสูงนั้นสามารถรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบได้ดีเพียงใด เหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความท้าทายของนโยบายการเงินอยู่ที่การชั่งน้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในส่วนนี้ที่มาของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นประเด็นสำคัญโดยในปัจจุบัน ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมานานแล้วมาจากอุปสงค์ของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวดี มีเพียงแค่ระยะหลังที่ผลผลิตหายไปจากตลาดบ้างเพราะภัยธรรมชาติและปัญหาความไม่สงบ ถ้ามองในบริบทของทั้งโลก ความต้องการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ดึงราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้นนั้น ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การชั่งน้ำหนักของนโยบายการเงินอาจค่อนไปทางดูแลเงินเฟ้อมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในภาวการณ์ปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นนั้น นโยบายการเงินควรเน้นที่การควบคุมอุปสงค์ส่วนเกินและการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่อาจเร่งขึ้นเรื่อยๆ จากความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่อาจปรับสูงขึ้นในวงกว้าง อัตราดอกเบี้ยนโยบายจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจัดการควบคุมการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย