​การท่องเที่ยวทำให้ไทยเป็น Dutch Disease จริงหรือไม่

ดร.พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

แม้การท่องเที่ยวไทยที่มีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้มหาศาลให้กับ ประเทศ แต่มิได้เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยตกอยู่ ในภาวะ Dutch Disease กล่าวคือทุ่มทรัพยากรให้กับภาคท่องเที่ยวโดยละเลยการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ในทางตรงกันข้ามกลับสนับสนุนให้เกิดการผลิตและส่งออกสินค้า รวมทั้งช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการกระจายรายได้

การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่ปี 2011 สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุดในปี 2017 เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ถึง 48.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 10.6 ของ GDP) ซึ่งมาจากดุลการค้า 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ยังน้อยกว่าดุลการท่องเที่ยวที่สูงถึง 47.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ส่วนที่เหลือเป็นดุลบริการ อื่นๆ และดุลบัญชีรายได้และเงินโอน) ก่อให้เกิดความกังวลว่าภาคการท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Dutch Disease หรือไม่

คำว่า Dutch disease หมายถึง การที่ประเทศพึ่งพารายได้จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนสร้างผลลบให้กับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจากรายได้ เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากขึ้นจนทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันลดลง หรือแม้แต่การจัดสรรเงินทุนหรือแรงงานออกจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โดยคาว่า Dutch disease เกิดขึ้นภายหลังจากที่เนเธอร์แลนด์ค้นพบก๊าซธรรมชาติ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1950 ซึ่งสร้าง รายได้มหาศาลจนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลัก แต่กลับทำให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นเกิดเงินเฟ้อ และเกิดการโยกย้ายแรงงานและเงินทุนมาสู่การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ จนบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และทำให้ประเทศเสี่ยงต่อการเกิดการล่มสลายของภาคอุตสาหกรรมในขณะที่ประเทศยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร (premature de-industrialization)

ต่อมามีการเอาเรื่อง Dutch disease ไป อธิบายความสัมพันธ์ในทางลบระหว่างความมั่งคั่ง ทางทรัพยากรธรรมชาติกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่เราเรียกว่า Resource Curse กล่าวคือ ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักไม่สามารถยกระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีรายได้ต่อหัวและคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เช่น แองโกลา ไนจีเรีย ซูดาน และคองโก ซึ่งมีทั้งน้ำมันดิบ เพชร และแร่ธาตุอื่นๆ อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ สามารถผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากประเทศที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติมักมีความเสี่ยงที่ภาครัฐจะมีพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) เช่น การให้สัมปทานการขุดเจาะน้ำมันหรือเหมืองแร่ และนำมาซึ่งปัญหาคอรัปชั่นซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

เมื่อย้อนกลับมาดูไทย ดุลการท่องเที่ยวของเรามีมูลค่ามากกว่าดุลการค้าตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา (รูปที่ 1) หลังจากที่มีกระแสนักท่องเที่ยวจีนนิยมมาไทยมากขึ้น ทำให้ดุลบริการรายได้และเงินโอน ของไทยเกินดุลอย่างต่อเนื่องจากที่เคยขาดดุลมาโดยตลอดจากการส่งกลับกำไรของนักลงทุนต่างชาติ และทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง สะท้อนรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศสูงกว่ารายจ่ายอยู่มากจึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น (ผลทางตรง) ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงดังกล่าวยังสะท้อน เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทย จึงมีส่วนดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย หรือที่เราเรียกว่าเงินร้อน และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย (ผลทางอ้อม) หากเราพิจารณาแต่เพียงผิวเผินโดยเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตดีว่าเป็นภาคที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น และทำให้ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันก็อาจตีความได้ว่าภาคการท่องเที่ยวของไทย กำลังทำให้ประเทศไทยเป็น Dutch disease

อย่างไรก็ตาม หากส่องกล้องตรวจดูใน รายละเอียดจะพบว่า การท่องเที่ยวของไทยไม่ได้ เป็น Dutch Disease เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

(1) ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาไทยและ ทรัพยากรธรรมชาติในภาคการท่องเที่ยว หากรักษาให้ดีสามารถทำให้ยั่งยืนได้ แตกต่างจาก ทรัพยากรธรรมชาติอื่นที่ใช้แล้วหมดไปอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุอื่นๆ ทั้งนี้ จากผลสำรวจ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวโดยรวมที่นิยมมาไทย เผยแพร่โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ปัจจัยดึงดูด 5 อันดับแรกมาจากการบริการเชิงสุขภาพ (เช่น สปาและนวดแผนไทย) ความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวด้านทะเลและชายหาด แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวิติศาสตร์ และกิจกรรมผจญภัย

(2) ภาคการท่องเที่ยวช่วยกระจายรายได้ผ่านการสร้างงานให้กับชุมชนที่เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวในพื้นที่ห่างไกล จึงไม่ได้เป็น resource curse และไม่ได้แย่งแรงงานและการลงทุนมาจาก ภาคอุตสาหกรรม โดยแม้ว่าการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่จากค่าจ้างในธุรกิจนี้ยังต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะสูงกว่า ฉะนั้น ภาคการท่องเที่ยวจึงเพียงช่วยดูดซับแรงงานบางส่วนมาจากภาคการผลิต โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกจ้างรายวันที่มีรายได้น้อยเช่นอุตสาหกรรม อาหารเป็นต้น และโดยธรรมชาติภาคการท่องเที่ยวใช้เงินลงทุนน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม จึงไม่ได้มีปัญหาการแย่งเม็ดเงินลงทุนมาจากภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

(3) ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการพัฒนาจนเข้มแข็งระดับหนึ่งแล้ว แม้ภาคการท่องเที่ยว สร้างเงินตราต่างประเทศให้กับไทยได้เป็นจำนวนมากและมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าจากปัจจัยอื่นที่มาจากทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. เทียบกับทุกสกุลเงิน ดุลการค้าไทยที่เกินดุล และเงินไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เงินบาทที่แข็งค่าดังกล่าวไม่ได้ ทำลายอุตสาหกรรมการผลิต อย่างกรณีของเนเธอร์แลนด์ที่ขณะนั้นภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงยังไม่เติบโตนัก (Premature) แต่อุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าของไทยมีการพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว และหลายอุตสาหกรรมสามารถต้านทานกับการแข็งค่าของเงินบาทได้ ทั้งในด้านการปรับตัวและการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน มีเพียงสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปบางประเภทที่ยังมีมูลค่าเพิ่มต่ำ และมีการแข่งขันด้านราคาสูงที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ภาพรวมการอุตสาหกรรม การส่งออกไทยยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดีตามเศรษฐกิจ โลกที่แข็งแกร่งและปริมาณการค้าโลกที่ฟื้นตัว

(4) ภาคการท่องเที่ยวช่วยเป็นประตูเปิดทาง ให้กับผู้บริโภคต่างชาติได้รู้จักและสัมผัสกับสินค้าไทยมากขึ้น จึงช่วยส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาท่องเที่ยวในไทย ทำให้เกิดความต้องการสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป และเครื่องสำอางค์ (รูปที่ 2) ส่งผลดีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ไทยโดยตรง และจะได้รับรายได้จากการส่งออกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหากสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

กล่าวโดยสรุป แม้การท่องเที่ยวไทยที่มีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่มิได้เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยเป็น Dutch disease แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับสนับสนุนให้เกิดการผลิตและส่งออกสินค้าไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรและ SMEs ไทยโดยตรง รวมทั้งช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการกระจายรายได้ไปยังชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวที่ห่างไกล นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยมีจุดเด่นในหลายด้านนอกเหนือจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของการท่องเที่ยวไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ และสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่การดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการจากภาครัฐ และความตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินค้าสาธารณะ ที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันสอดส่องดูแลรักษา เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย