​ช่วยกันยกระดับเศรษฐกิจไทยเพื่อโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

​ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นางสาวพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์

ในฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงประเด็นทำอย่างไรให้การบริโภคของครัวเรือนไทยเพียงพอและยั่งยืน แต่การจะกล่าวถึงเรื่องการบริโภคโดยไม่กล่าวถึงรายได้ก็คงจะเห็นภาพของเศรษฐกิจไม่ครบ ฉบับนี้เราจะมาดูศักยภาพของเศรษฐกิจไทยผ่านมิติด้านรายได้กันบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปเรามักจะวัดคุณภาพของเศรษฐกิจอย่างง่ายๆ โดยดูจากรายได้ประชาชาติ จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งสามารถหาได้ทั้งด้านรายจ่ายคือ ผลรวมของค่ำใช้จ่ายสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายเพื่อการอุปโภค บริโภคและเพื่อการลงทุน และจากด้านผลผลิตคือ ผลรวมของมูลค่าเพิ่มของการผลิตในระบบทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และจากด้านรายได้ รวมที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ จะเป็นการมองผ่านปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นแก่นแท้ของการเติบโตสร้างผลผลิตและยังสะท้อนกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งเห็นการกระจายตัวของรายได้ ทั้งผลตอบแทน แรงงานคือ ค่าจ้าง และผลตอบแทนของทุนคือ ค่าเช่า ดอกเบี้ยสุทธิ กำไรของบริษัท


ศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ไหน?

ในช่วง 4 ทศวรรษปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ต่อเนื่องมากน้อยตามสภาพแวดล้อม ตามเศรษฐกิจโลก ฟันฝ่าก้าวผ่านวิกฤตรุนแรงหลายครั้งทั้งวิกกฤตการเงินต้มยำกุ้ง ซับไพร์ม รวมทั้ง สถานการณ์ในประเทศทั้งการเมืองและอุทกภัยใหญ่ มองจากด้านรายได้เศรษฐกิจไทยมีจุดแข็งหลายด้าน คือ หนึ่ง มีการใช้ปัจจัยการผลิตทุนและแรงงานในการผลิตสินค้าและบริการในระดับที่ค่อนข้างสมดุล โดยมีผลตอบแทนจากปัจจัยการใช้ทุนและแรงงานอย่างละประมาณครึ่ง (ดูกราฟ) สอง มีภาคเอกชนที่แข็งแกร่งร่วมเป็นกลไกประสานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีผลประกอบการโตได้ต่อเนื่องเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ดูจากสัดส่วนของผลตอบแทนส่วนที่เป็นกำไรบริษัทและภาษีที่ขยายตัวต่อเนื่อง และ สาม มีภาคเกษตรและ ภาคท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ภาคเกษตรเป็นฐาน ทรัพยากรที่สามารถผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนในประเทศและยังส่งไปขายต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศด้วย แม้ว่าสัดส่วนรายได้จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับรายได้อื่น แต่ก็ยังเติบโตได้แบบพอเพียงและต่อเนื่อง สัดส่วนรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตมีแนวโน้มลดลง ขณะที่สัดส่วนรายได้ของแรงงานในภาคบริการเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม

กับ


กับดักรายได้ปานกลางและความท้าทาย

ด้านคนและเทคโนโลยี

เป็นที่รู้กันว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการติดอยู่ใน "กับดักรายได้ปานกลาง" ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ถ้าเราสังเคราะห์จากมุมมองด้านปัจจัยการผลิตจะเห็น ความท้าทายด้านโครงสร้างทั้งด้านคนและเทคโนโลยีใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ หนึ่งคือด้านคน กำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศสูงวัยและมีทักษะพื้นฐานในระยะเวลาอันใกล้เราจะเผชิญกับจำนวนคนทำงานที่น้อยลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ทำงานในสายการผลิตกว่าร้อยละ 70 มีการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่าคงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรายได้ในภาพรวมของประเทศถึงเติบโตช้า ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานกลุ่มนี้มีรายได้แทบไม่โตเลย หากเปรียบเทียบรายได้เมื่อเริ่มเข้าทำงานกับรายได้เมื่อเกษียณอายุ ขณะที่แรงงานที่ใช้ทักษะเฉพาะ เช่น ผู้จัดการ อาชีพด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผู้บริหาร/ผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์การเงิน และเจ้าหน้าที่สินเชื่อ สัดส่วนดังกล่าวคิด เป็น 3 เท่า ไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการทำงานและสร้างนวัตกรรมในโลกยุคใหม่ที่ต้องพึ่งพาการเติบโตด้วยความรู้และนวัตกรรม

นอกจากนี้ ไทยมีแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมด 39 ล้านคน ซึ่งคือผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานที่ไม่มีนายจ้างแน่นอน ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและ หลักประกันทางสังคม และยังมีผลิตภาพและรายได้ต่ำกว่าแรงงานที่ทำงานในระบบ ซึ่งถือว่ามีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากตลาดแรงงานของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระยะหลัง เราเห็นแนวโน้มของค่าตอบแทนของแรงงานกลุ่มนี้เติบโตชะลอลง ถึงแม้ว่าเราจะมีบริษัท Start-up ใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและการค้ำปลีกขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้ใช้ทุนและเทคโนโลยีในการประกอบการมากนัก ทำให้มีผลิตภาพและรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง

สอง คือด้านทุนและเทคโนโลยี ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นกลางพึ่งพาความ ได้เปรียบในการแข่งขันจากการใช้แรงงานค่าแรงต่ำเป็นหลัก จากกราฟ ถ้าเราจะดูว่าเศรษฐกิจไทยใช้ปัจจัยทุนมากน้อยเพียงไรอาจดูได้จากค่าเสื่อมราคาของทุน (Depreciation) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดสูงถึงปีละ 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนึ่งในหกของ GDP สะท้อนว่าเครื่องจักรได้ถูกใช้งานอย่างหนักในการผลิต รวมทั้งการสึกหรอหรือเสื่อมสภาพด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าอาจเป็นสัญญาณว่าถึงจุดที่เราต้องลงทุนเพิ่มเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแล้ว และ สาม คือ ด้านการกระจุกตัว การลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวไปในภาคบริการโดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม และมีส่วนน้อยไปยังภาคบริการอื่นๆ ซึ่งจริงๆ การลงทุนในภาคบริการใช้เงินน้อยกว่า และเราเห็นการกระจุกตัวของการลงทุน R&D ของบริษัทไทยชั้นนำ ซึ่งส่วน ใหญ่เป็นรูปแบบนำเข้าจากต่างประเทศ โดยติดกลุ่มที่มีค่าใช้จ่าย R&D สูงสุด 184 บริษัททั่วโลกด้วย (The Global Innovation 1000) แสดงถึงความตื่นตัวในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตมากขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปยังทุกกลุ่มนัก


เปลี่ยนผ่านเพื่อโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ด้วยผลิตภาพและนวัตกรรม

จากจุดแข็งและความท้าทายที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยเพื่อเติบโตกระจายประโยชน์ในสังคมอย่างทั่วถึงและยั่งยืนได้ มาถึงจุดเปลี่ยนนี้ ถือว่าคนไทยเศรษฐกิจไทยยังมีความหวัง หากพวกเราทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจร่วมมือกันทำตามแนวทางที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ท่านได้ปูแนวทางไว้ให้พวกเราแล้ว ซึ่งหากเราถอดรหัสพระราชดำรัสของพระองค์จะได้ว่า งานพัฒนาประเทศต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานให้ประชำชนส่วนใหญ่เข้มแข็ง (พัฒนาคน) ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา (นวัตกรรมและเทคโนโลยี) เมื่อปฏิบัติสำเร็จจึงยกระดับฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป (ยกระดับศักยภาพ)

แนวโยบายด้านพัฒนาคน กำลังแรงงานเดิมต้องทำงานด้วยความตั้งใจมีผลิตภาพสูง สามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีวินัยและคุณธรรม รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม โดยส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่บริษัทต้องการและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น สำหรับการเตรียมแรงงานในอนาคต ระบบการศึกษาของไทยควรปรับเปลี่ยนให้ตอบรับให้ทันกับความต้องการตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างคนที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกไร้พรมแดนที่การเข้าถึงความรู้มีข้อจำกัดน้อยลง

ในส่วนของแรงงานนอกระบบซึ่งถือว่ามีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว ควรสร้างรูปแบบเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานนอกระบบที่หลากหลายให้ตลาดแรงงานนอกระบบทำหน้าที่ช่วยพยุงและดูดซับแรงงานในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นตลาดแรงงานที่มีอิสระทางเลือกที่มีศักยภาพ เป็นเศรษฐกิจฐานราก และเป็นธุรกิจ Start-up ที่เข้มแข็ง เช่น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจัดตั้งศูนย์ One Stop Service ให้ความรู้เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงสร้างเครือข่ายสำหรับแรงงานที่ต้องการประกอบอำชีพอิสระ รวมทั้งธุรกิจ SME เพื่อกระจายประโยชน์และโอกาสให้ทั่วถึง ด้านการพัฒนาทุน เราควรส่งเสริมกลไกความร่วมมือการใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้และเชื่อมต่องานวิจัยในสถาบันการศึกษาสู่งานเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกระจายไปในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง โดยเน้น Sector ที่มีการจ้างงานสูง

หากทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และเราทุกคนช่วยกัน เชื่อมั่นได้ว่าวันหนึ่งจะสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามยกระดับฐานะเศรษฐกิจไปในขั้นที่สูงขึ้น เดินตามรอยพ่อหลวงที่ว่า "การดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน"

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย